8 ข่าวดีในปี 2560 ที่สำเร็จได้เพราะการสนับสนุนจากคุณ

6 มิถุนายน 2561

เรื่องและรูปภาพ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

1. ทั่วโลกยอมรับการแต่งงานเพศเดียวกันมากขึ้น

การแต่งงานเพศเดียวกันถูกทำให้ถูกกฎหมายในหลายประเทศตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะไต้หวันที่กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ยอมรับการแต่งงานเพศเดียวกันทางกฎหมาย ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงแอมเนสตี้ประเทศไทย ได้ร่วมกันรณรงค์ส่งข้อความ รูปภาพ และจดหมายไปยังรัฐบาลไต้หวันเพื่อเรียกร้องให้รับรองการแต่งงานเพศเดียวกันโดยเร็วจนสำเร็จในที่สุด โดยนอกจากไต้หวันแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศและดินแดนที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในปี 2560 เช่น ออสเตรีย ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ เยอรมนี มอลตา หมู่เกาะแฟโรห์ เบอร์มิวดา เป็นต้น

 

taiwan.jpg

 

2. “แอปเปิล”ตอบสนองต่อรายงานการใช้แรงงานเด็กของแอมเนสตี้

ต้องขอบคุณจดหมาย ทวีต และปฏิบัติการของทุกคนเนื่องในวันต่อต้านแรงงานเด็กสากล แอปเปิล (Apple) กลายเป็นบริษัทแรกที่ตีพิมพ์เผยแพร่รายชื่อโรงถลุงแร่โคบอลต์ หลังแอมเนสตี้เผยแพร่รายงาน “This is What We Die For” ซึ่งพบว่าเหมืองและโรงถลุงโคบอลต์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) หลายแห่งมีการใช้แรงงานเด็ก การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ รัฐบาลDRC ประกาศเป้าหมายที่จะกำจัดแรงงานเด็กในประเทศให้หมดไปภายในปี 2568

 

apple.jpg

 

3. ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ตุรกีที่ถูกจับได้รับอิสรภาพแล้ว

อีดิล เอเซอร์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ตุรกี และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกเก้าคน ได้รับการปล่อยตัวในที่สุด พวกเขาถูกจับด้วยข้อหาก่อการร้ายซึ่งไม่มีมูลความจริง เป็นเพียงหนึ่งในการพยายามปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศของทางการตุรกี ทุกกำลังใจและการเรียกร้องของทุกคนช่วยให้เธอก้าวข้ามประสบการณ์อันเลวร้ายมาได้

 

ตุรกี.jpg

 

4. “เชลซี แมนนิง” ได้รับอิสระ

เชลซี แมนนิง ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 หลังได้รับการลดโทษจำคุกเกือบทั้งหมดโดยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เธอถูกลงโทษเพียงเพราะเปิดเผยข้อมูลทางราชการ ซึ่งรวมถึงหลักฐานที่การละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางของกองทัพสหรัฐฯ ในอิรัก ซึ่งอาจนำมาใช้เพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามต่อกองทัพสหรัฐฯ ได้ เธอได้รับการสนับสนุนจากผู้คนกว่า 250,000 คนทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ที่ร่วมกันเขียนจดหมายเรียกร้องอิสรภาพให้เธอในแคมเปญ Write for Rights 2015

 

เชลซี.jpg 

 

5. นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพชาวญี่ปุ่นได้รับการปล่อยตัว

ฮิโรจิ ยามาชิโร นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพชาวญี่ปุ่นวัย 64 ปี ได้รับการประกันตัวหนึ่งวันหลังศาลเริ่มการไต่สวนคดีของเขาเป็นครั้งแรก เขาถูกจับเมื่อปี 2559 จากการประท้วงการก่อสร้างอาคารของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ใกล้เมืองทาเคอิ ฮิโรจิถูกควบคุมตัวเป็นเวลาห้าเดือนโดยไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวได้ โดยเขาได้รับอ่านจดหมายที่แอมเนสตี้ทั่วโลกส่งไปให้กำลังใจเขากว่า 400 ฉบับ

 

ญี่ปุ่น.jpg

 

6. การขายอุปกรณ์การทรมานในปารีสถูกระงับ

นักวิจัยของแอมเนสตี้พบอุปกรณ์การทรมานที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งกระบองหนาม ไม้ช็อตไฟฟ้าเสื้อช็อตไฟฟ้า และเหล็กขนาดใหญ่ไว้คล้องขา โดยเป็นสินค้าที่บริษัทจากจีนนำมาขายที่งานแสดงยุทธภัณฑ์ทางทหารและตำรวจซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส ทั้งๆ ที่ในสหภาพยุโรปจะมีคำสั่งห้ามนำเข้าและส่งออกอุปกรณ์เพื่อการทรมานมาตั้งแต่ปี 2549 และสั่งห้ามการส่งเสริมการขายตั้งแต่ปี 2559 ปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วของแอมเนสตี้และผู้สนับสนุนทั่วโลกส่งผลให้มีการสั่งปิดบูธและยุติการส่งเสริมการขายของสินค้าดังกล่าว หลังจากนั้น มีการสอบสวนอย่างจริงจังและมีการลงข่าวโดยสื่อในระดับโลกมากมาย

 

ปารีส.jpg

 

7. การสอบสวน “เชลล์” คืบหน้า กรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิในไนจีเรีย

แอมเนสตี้เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ “A Criminal Enterprise?” เพื่อเปิดโปงบรรษัทข้ามชาติอย่างเชลล์ (Shell) ที่มีส่วนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในไนจีเรียช่วงทศวรรษ 1990 โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารภายในหลายพันหน้าของเชลล์ พยาน ฐานข้อมูลของแอมเนสตี้ และแหล่งข้อมูลอื่นๆ รายงานฉบับนี้ส่งผลให้พนักงานอัยการประกาศว่าจะดูสำนวนการสอบสวนในประเด็นนี้ นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังให้ความสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เหมาะสมจากเชลล์ต่อไป

 

เชลล์2.jpg

 

8. เคนยายุติแผนปิดค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

หลังรัฐบาลเคนยาประกาศแผนปิดค่ายดาดาบ ค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่สุดในโลก ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ได้เรียกร้องเคนยาให้ยุติการบังคับส่งผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียกลับไปยังพื้นที่อันตราย และสนับสนุนหน่วยงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ฟ้องร้องต่อศาล ต่อมา ศาลสูงของเคนยาได้ตัดสินระงับคำสั่งของรัฐบาลที่จะปิดค่ายดังกล่าวโดยผู้พิพากษาได้อ้างข้อมูลในรายงานของแอมเนสตี้ในการเขียนคำวินิจฉัยด้วย

34506534_1212003955597925_6391013423525658624_n.jpg