เลขาธิการใหญ่ "คูมี นายดู" เยี่ยมเยียนชาวแอมเนสตี้ประเทศไทย

9 กันยายน 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เนื่องในโอกาสที่คุณคูมิ นายดู เลขาธิการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เข้าเยี่ยมเยือนสำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทางแอมเนสตี้จึงถือโอกาสจัดกิจกรรมถามตอบกับคุณคูมิท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเองกับเหล่าสมาชิก อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ ประเทศไทย ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่ได้พบปะกันอย่างคึกครื้น

 

Q:        คุณขึ้นมาสู่ตำแหน่งเลขาธิการของแอมเนสตี้ได้อย่างไร



Kumi:  มันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน มันเริ่มมาจากการที่ผมเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่อายุสิบห้าปี ในฐานะนักเรียนม.ปลายที่รณรงค์เพื่อความเท่าเทียมและต่อต้านการเหยียดผิว ผมยังจำได้ว่าสมัยที่ผมเดินขบวนตอนอายุสิบห้า หัวขบวนบอกว่า เราต้องการความเท่าเทียม(Equality) แต่พอยาวไปถึงปลายขบวนที่เป็นพวกเด็กๆ พวกเขาก็จะตะโกนว่า เราต้องการทีวีสี(colored TV) แต่ตอนนั้นผมรู้สึกว่าการได้มีทีวีสีกับได้รับความเท่าเทียมมันก็ดีพอๆกัน หลังจากนั้นมาหลายปี ในที่สุดพวกเราก็นำเนลสัน แมนเดล่า ออกจากเรือนจำได้ในที่สุด ซึ่งพวกคุณบางคนอาจจะพอรู้ว่าแมนเดล่าใช้ชีวิตในเรือนจำถึง27ปี และเมื่อแอฟริกาใต้เป็นประชาธิปไตยในที่สุด ผมก็ตัดสินใจที่จะไม่เล่นการเมือง แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมแทน


หลายๆคนบอกว่าผมคิดผิดเพราะผมอาจจะได้เป็นรัฐมนตรีหรืออะไรประมาณนั้น แต่ที่ผมตัดสินใจเช่นนี้ก็เพราะว่าถึงแม้ว่าเราจะอยากได้ประชาธิปไตย การมีประชาสังคมที่แข็งแกร่งก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะคานอำนาจฝ่ายการเมือง และมันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุดท้ายสิ่งที่ผมคาดไว้เป็นจริง เมื่อผู้นำหลายๆคนที่ผมเคยร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็เติบโตไปเป็นนักการเมืองที่คอรัปชั่นอย่างร้ายแรง ทำให้ผมใช้เวลาหลายปีที่ผ่านมาต่อสู้เพื่อนำพวกเขาลงจากตำแหน่ง จนกระทั่งเราทำได้สำเร็จและกำจัดประธานาธิบดีที่คอรัปชั่นหนักๆอย่างเจค็อบ ซูมาร์ หรือชื่ออะไรประมาณนี้ล่ะ เอาเป็นว่าเราไม่พูดถึงเขาดีกว่า

 

หลังจากนั้นมา ผมก็ลงมาคลุกคลีกับด้านการศึกษาในแอฟริกาใต้ แล้วก็ขึ้นเป็นประธานให้กับเครือข่ายขององค์กรอิสระด้านประชาสงเคราห์ในนานาประเทศ ซึ่งก็คือเครือข่าย CIVICUS ต่อมาผมก็ขึ้นเป็นหัวหน้าของกลุ่ม Greenpeace International หลังจากนั้นผมก็พยายามรวบรวมชาวแอฟริกาเพื่อให้ร่วมมือกันเป็นกลุ่ม Africans Rising - For justice, peace, and dignity. (การเคลื่อนไหวแห่งแอฟริกาเพื่อความยุติธรรม สันติภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์)


และผมก็ยินดีมากๆที่ได้มาพบกับพวกคุณทุกคน แต่ผมต้องบอกเลยนะ ว่ายินดีเป็นพิเศษที่ได้เจอคนบ้านเดียวกัน(หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานที่มาจากแอฟริกาใต้) เพราะมันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่แอฟริกามีปัญหาความรุนแรงรุมเร้ามากมาย โดยเฉพาะกับเด็กและผู้หญิง ทั้งการข่มขืนทำร้ายร่างกายในสภาวะสงครามที่เป็นอยู่ ผมพูดได้เลยว่าต่อให้ปัญหาขณะนี้ของเอเชียจะแย่แค่ไหน แอฟริกาทั้งทวีปก็ยังคงมีปัญหามากที่สุดในโลก

 

และวันนี้ก็ถือว่าครบรอบหนึ่งเดือนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แต่ก็รู้สึกเหมือนผ่านมาสักสิบปีได้ แต่ผมก็ยินดีมากที่ชาวแอมเนสตี้ล้วนเป็นคนที่ดี มีจิตวิญญาณเพื่องานสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ส่วนตัวผมเองตื่นเต้นมากที่จะได้พบกับพวกคุณ เพราะเวลาที่คุณแนะนำตัวกับผมว่าเป็นสมาชิก เป็นอาสาสมัคร หรือเป็นนักศึกษาฝึกงาน มันสร้างความรู้สึกพิเศษให้กับผม เพราะองค์กรอย่างแอมเนสตี้นั้นไม่ได้คงอยู่ได้เพราะพนักงานประจำอย่างเช่นผม แต่อยู่ได้เพราะผู้คนที่สละเวลามาให้ เพื่อสนับสนุนงานของแอมเนสตี้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดขององค์กร

 Image_3816833.jpg

Q: ในเมื่อเรามีคนรุ่นใหม่มากมายมาร่วมงานในวันนี้ และคุณเองก็เริ่มงานกิจกรรมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก คุณรู้สึกว่าสิ่งใดที่สำคัญต่อนักกิจกรรมรุ่นใหม่บ้าง

 

Kumi: สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะบอกกับคนรุ่นใหม่ก็คือ อย่ายอมรับเวลาที่ผู้ใหญ่พูดว่า “เด็กๆคือผู้นำของวันพรุ่งนี้” เพราะถ้าคุณรอเพื่อให้ถึงวันพรุ่งนี้ มันจะไม่มีอะไรเหลือถึงคุณ ความจริงก็คือ คนรุ่นพวกผมน่ะ มันไม่เหลือความคิดใหม่ๆแล้ว และไอน์สไตน์ก็เคยกล่าวไว้ว่า

 

“ความหมายของการเสียสติ ก็คือการทำวิธีการเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วคาดหวังว่าจะได้ผลต่างออกไป”

 

ที่ผมพูดแบบนี้ก็เพราะว่า… ยกตัวอย่างเรื่องโลกร้อน ที่สถานการณ์จริงๆของสิ่งแวดล้อม มันเลวร้ายยิ่งกว่าที่นักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะยอมพูดเสียอีก เพราะฉะนั้นเวลาคุณเห็นคนอย่างพวกผมที่อยู่ Greenpeace จะชอบบอกว่า ต้องช่วยโลก ต้องช่วยโลก ข่าวดีก็คือ โลกไม่ได้ต้องให้เราช่วย เพราะถ้าเรายังทำแบบเดิมๆ ใช้พลังงานฟอซซิล ทำลายป่า โลกก็จะร้อนขึ้นจนเราผลิตอาหารไม่ได้ หาน้ำไม่ได้ สุดท้ายเราก็จะตาย แล้วโลกของเราก็ยังอยู่ที่เดิม (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นการที่เราต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม มันก็คือการรักษาอนาคตไว้ให้ลูกให้หลานของเรายังอยู่ได้ต่อไป


เพราะในทุกวัฒนธรรมของโลก ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ยุโรป หรือแอฟริกา และแม้ว่าเราอาจจะไม่ทำตัวตามนั้นเสมอไป แต่ทุกวัฒนธรรมล้วนให้ความสำคัญกับอนาคตของลูกหลานตนเอง และในปัจจุบัน ผู้นำประเทศหลายๆคนตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ไปจนถึงดูเตอร์เต้ที่ฟิลิปปินส์ พวกเขาทำสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าไม่ได้ทำเพื่อรุ่นลูกรุนหลานของเรา ดังนั้นผมจึงต้องพูดตรงนี้เลยว่า คนรุ่นใหม่อย่างพวกคุณเดิมพันชีวิตไว้กับความสำเร็จขององค์กรอย่างแอมเนสตี้ ไม่ใช่คนแก่อย่างพวกผมที่จะตายไปก่อนที่จะรับผลของการกระทำของผู้นำเหล่านี้ ที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของมนุษย์เมื่อพวกคุณได้รับการพิพากษาจากธรรมชาติ การรักษาสิ่งแวดล้อมได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สิทธิมนุษยชน อย่างที่ผู้นำหญิงจากสหภาพแรงงานของออสเตรเลียเคยกล่าวกับเลขาธิการสหประชาชาติคนเก่าไว้ว่า เธอต้องมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน เพราะ

 

”โลกที่ตายไปแล้วจะไม่มีการจ้างงาน” ดังนั้นแอมเนสตี้จึงต้องมีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าไม่มีมนุษย์เหลืออยู่บนโลกแล้ว ก็แน่นอนว่าไม่มีสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

 

ดังนั้นสำหรับคำแนะนำที่สองให้แก่คนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับเรื่องความคิดใหม่ๆ ซึ่งผมได้มาจากลูกสาวที่ตอนอายุสิบสอง ผมบอกเธอว่าไม่ควรทำอย่างนี้ เพราะจากประสบการณ์ของผมมันจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น แล้วลูกผมตอบกลับมาว่า ปัญหาของผมและคนรุ่นผม คือพอเจอเรื่องร้ายๆเข้าไปทีแล้วก็คิดว่ามันจะเกิดเรื่องร้ายเสมอไป เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการคนที่มีความคิดใหม่ๆเพื่อแก้ปัญหาเดิม

 Image_53ce4e3.jpg

Q: ในเมื่อเราพูดถึงคนรุ่นใหม่แล้ว คุณพอจะบอกได้มั้ยว่าเราควรจะทำอย่างไรดีกับผู้ใหญ่ที่บอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ให้เราทำอะไรได้เลย

 

Kumi:  อย่างแรกที่สุดเลยคืออย่าพึ่งท้อแท้ อย่างที่สองคือพยายามเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดกันแบบนั้น อย่าพึ่งโกรธเขา อย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกามีคนมากมายที่โหวตโดนัลด์ ทรัมป์ สิ่งที่เราต้องทำคือให้ความรักกับพวกเขา พยายามที่จะชนะใจพวกเขาให้หันมาคิดแบบเรา เพราะถ้าเราจะตัดคนอเมริกันออกไปจากความคิดของเราถึง40%ของประเทศ เราจะไม่เหลือคนมากพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆขึ้นได้ และคนก็ควรจะเตือนพวกเขาว่า หน้าที่ของคนแก่ๆอย่างรุ่นพวกผม ความจริงแล้วคือการดูแลทุกๆสิ่งให้เรียบร้อย ไม่ใช่การครอบครอง เพราะเรายืมมันมาจากคนรุ่นต่อไปอย่างพวกคุณ และในที่สุดเราก็ต้องคืนมันไป

 

ท้ายที่สุดที่ผมจะแนะนำพวกคุณ ก็คืออย่ารณรงค์ด้วยเอกสารยาวๆและคำศัพท์ยากๆ แต่ให้สื่อสารด้วยบทเพลง เต้นรำ ศิลปะ ด้วยวิธีที่จะทำให้คนทั้งโลกสนใจ เพราะความจริงแล้วคุณจะเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าถ้าคุณสื่อสารได้อย่างสนุกสนาน เข้าใจได้ง่าย ผมบอกคุณได้เลยว่าที่ผมบอกไม่ให้พวกคุณทำตามน่ะก็เพราะผมทำมาแล้วทั้งนั้น นี่พูดจากประสบการณ์ตรงเลย ตอนผมเด็กๆผมก็พยายามจะสื่อสารด้วยถ้อยคำซับซ้อน แต่พอยิ่งโตมาก็ยิ่งทำให้ง่ายลง เพราะนัก รณรงค์มากมายที่ทำผิดพลาดเพราะเขาสื่อสารในแบบที่เขาคิดว่าตัวเองเข้าใจ ไม่ใช่ในแบบที่คนทั่วไปในโลกเขาจะเข้าใจ แล้วผลที่ได้ก็คือเราแทบจะพูดกันคนละภาษาเลย

 

(เพิ่มเติมจากผู้ร่วมงานคนหนึ่ง): และฉันอยากจะขอเสริมด้วยสำหรับคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าจะทำอะไรก็ต้องรอคำอนุญาติหรือการยอมรับจากผู้ใหญ่ ฉันอยากจะบอกพวกเขาว่าความจริงแล้วถ้าอยากจะทำอะไรก็ทำไปเลย

 

Kumi: แน่นอนที่สุด

 

Q: จากที่คุณเคยเป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก ในประเทศของผม แม้ว่าจะไม่มีสงครามแต่ก็มีรัฐบาลที่เป็นคอมมิวนิสท์ การที่เด็กซักคนจะเริ่มเป็นนักกิจกรรมมันมีอุปสรรคมากมาย ผมเลยอยากทราบว่าอะไรคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่คุณเคยเจอมา

 

Kumi: อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดตอนที่ผมเริ่มทำกิจกรรม ก็คือการที่คนไม่จริงจังกับสิ่งที่ผมพูด พวกเขาจะบอกว่า เธอยังเด็กมากเลยเธอจะไปรู้อะไร อย่างที่สองก็คือ… นี่จากประสบการณ์ของผมนะ ก็คือความรุนแรงจากตำรวจ ผมโดนจับกุมอยู่หลายครั้ง โดนตั้งข้อหา โดนแก็สน้ำตาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าเทียบกับคนอื่นถือว่าผมโชคดีมาก แม้แต่น้องชายของผมยังเคยต้องเข้าคุก ผมโชคดีมากที่ยังมีชีวิตอยู่ ในขณะที่เพื่อนหลายคนของผมต้องตาย

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเข้าใจนักกิจกรรมรุ่นใหม่ก็คือทุกสิ่งมันดูช้าไปหมด คนรุ่นผมจะเห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้น แต่สำหรับหนุ่มๆสาวๆพวกเขาจะบอกว่า มันช้าเกินไป และหลายครั้งที่คนรุ่นใหม่จะรู้สึกขุ่นเคืองใจกับการประณีประนอม กับความยอมความ โดยที่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องประณีประนอมเพื่อให้การเคลื่อนไหวได้ไปต่อ เอาจริงๆก็คือ คนแก่ๆอย่างเราก็ไม่อยากอดทนเช่นกัน แต่เรามีประสบการณ์กับการจัดการความรู้สึกอึดอัดได้ดีกว่า และพยายามยอมรับว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะช้ากว่าที่อยากได้

 

อย่างสุดท้ายที่ผมอยากจะบอกก็คือ การทำกิจกรรมมันสนุก หรือจะบอกว่ามันเซ็กซี่ได้ด้วยซ้ำ และมิตรภาพจากเพื่อนหลายๆคนที่ผมรู้สึกว่ามีค่ามากที่สุด ก็คือความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นมาจากการทำกิจกรรมตั้งแต่ตอนผมอายุสิบห้านั่นล่ะ ดังนั้นเวลาที่คนบอกผมว่า มันน่าเสียดายมากเลยคูมิ เธอเสียสละมาเยอะเหลือเกิน ผมจะไม่คิดว่าที่เขาพูดนั้นถูกต้อง เพราะผมอาจจะอุทิศชีวิตของผมไปมาก แต่สิ่งที่ผมได้รับคืนมาจากการต่อสู้นั้นมากยิ่งกว่า ซึ่งก็คือการที่ชีวิตผมมันมีความหมาย มีประโยชน์ และทุกๆคืนที่ผมหลับไปผมรู้ว่า ผมได้ใช้ชีวิตทำในสิ่งที่ดี

 Image_677f6be.jpg

Q: หลังจากนี้ที่คุณได้เข้ามาเป็นหัวใหญ่ของแอมเนสตี้แล้ว คุณมีแนวทางที่องค์กรของเราจะไปทิศทางใดต่อไป

 

Kumi:  ผมรู้สึกว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันที่นักรณรงค์มักเจอ คือการที่เรามีโครงการที่มากเกินไป หลายๆครั้งเกิดจากการที่เราแยกสิ่งที่ควรจะอยู่ด้วยกันออกมาเป็นคนละเรื่อง เกือบสี่สิบปีมาแล้วที่เคยมีคนบอกกับผมว่า เราต้องฟังสิ่งที่เหล่านักสิทธิสตรีเคยบอกไว้ พวกเขาใช้คำที่ค่อนข้างจะซับซ้อนว่า “Intersectionality” (ความคาบเกี่ยวของหลายๆสิ่งจนเป็นเรื่องเดียวกัน) มันเป็นคำที่ซับซ้อนแต่ทรงพลังเป็นอย่างมาก นักสิทธิสตรีเคยบอกไว้ว่า ถ้าคุณอยากจะให้มีความเท่าเทียมทางเพศ คุณต้องเข้าใจความเกี่ยวข้องของเพศกับสถานะ ชาติพันธุ์ ศาสนาและฐานะทางเศรษฐกิจ จะแยกทำแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้

 

ก่อนที่ผมจะมาทำงานกับแอมเนสตี้ ผมทำงานเรื่องภาวะโลกร้อน เพราะว่า ถ้าเราจะมัวแต่สนเรื่องอื่นๆ เช่นนักโทษทางการเมือง สุดท้ายเราก็จะไม่มีนักโทษทางการเมืองอยู่ดี เพราะมนุษย์จะสูญพันธุ์ไปซะก่อน ถ้าพวกคุณคิดว่าผมพูดเกินจริง ก็หันไปดูฟิลิปปินส์ดู เมื่อห้าปีที่แล้วที่ไต้ฝุ่นพัดผ่านเกาะของพวกเขา 90%ของเกาะพังทลายไม่เหลือ ธรรมชาติไม่มีการต่อรอง และถ้าเราคิดว่าจะควบคุมธรรมชาติได้ เราก็กำลังหลอกตัวเอง

 

ดังนั้นสิ่งที่ผมจะทำกับแอมเนสตี้ในตอนนี้ ก็คือการเอางานของสิทธิมนุษยชน มาร่วมกับงานของการรณรงค์ภาวะโลกร้อน แต่ที่สำคัญอีกด้านก็คือ การทำตามคำขวัญใหม่ของเราซึ่งก็คือ “Bigger, Bolder, more Inclusive” (ใหญ่ขึ้น กล้ายิ่งกว่า และเพิ่มความครอบคลุม)

 

Bigger ในความหมายของเรา เมื่อยกตัวอย่างเป็นประเทศไทย คือการมีผู้มีส่วนร่วมไม่ใช่แค่หลักร้อย หรือหลักพัน แต่หลักล้านกับการต่อสู้เพื่อเป้าหมายของเรา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มแอมเนสตี้เท่านั้น แต่รวมไปถึงองค์กรหรือกิจกรรมอื่นๆที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้มีคนมากขึ้นที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทั้งระดับเล็กขึ้นไปจนถึงระดับชาติ เพราะเหล่าผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนจะชอบเป็นโรคเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือหูตัึง คนน้อยๆ เสียงเบาๆ เขาจะไม่ค่อยได้ยิน แต่ถ้ารวมตัวกันในหลักล้าน พวกเขาจะเห็นและกลัว แล้วก็จะเริ่มแต่สนอง แต่เอาจริงๆส่วนใหญ่เขาก็ตอบโต้ด้วยปืนนะ แต่ในที่สุด อย่างที่ผู้นำในโลกหลายๆคนเจอมากับตัว ถ้าคนรวมตัวกันมากพอ ทุ่มเทกันมากพอ ไม่มีปืนหรือกระสุนมากแค่ไหนจะหยุดพวกเขาได้ ดังนั้นเราจึงต้องรวมตัวกัน ทั้งพวกเรา เหล่าผู้หญิง เพศทางเลือก หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจที่มีความคิดก้าวหน้า

 

สำหรับ Bolder นั้น หลายๆปีที่ผ่านมาแอมเนสตี้ทำงานได้ดีมาตลอด และเราก็ควรจะทำต่อไป แต่เป้าหมายใหญ่ๆของเรากับบรรลุไปแค่เล็กน้อยเท่านั้น เราจึงต้องกลับมาดูแผนยุทธศาสตร์ของเรา ศึกษาว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างเช่นในอดีตที่มีการรณรงค์เลิกทาส ล่าอาณานิคม สิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง ความเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นเมื่อคนรวมตัวเป็นพลังสำคัญลุกขึ้นมากล่าวว่าพอกันที การรวมตัวอาจทำให้มีคนโดนยิง โดนขัง ถูกฆ่า แต่ทุกวันนี้ทั่วโลก เรามีคนรุ่นใหม่มากมายที่กำลังหมดความอดทนกับสิ่งที่เป็นอยู่ และมันเปิดโอกาสให้เราสามารถทำกิจกรรมที่แม้จะเป็นสันติวิธี แต่ก็กล้ามากยิ่งขึ้นที่จะงัดข้อกับความอยุติธรรม รวมไปถึงการทำอริยะขัดขืนได้

 

More Inclusive ก็คือการที่เราจะทำงานใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งกับสหภาพแรงงาน ภาคธุรกิจ กลุ่มเคลื่อนไหวของเยาวชน หรือแม้กระทั่งผู้นำศาสนา ในความเป็นจริง พวกเราส่วนใหญ่ก็อยากจะพูดเฉพาะกับคนที่คิดเหมือนเรา หรือทำตัวเหมือนเรา แต่นั่นไม่ใช่การรณรงค์ มันเป็นแค่การพบปะของปัญญาชนที่โต้วาทีเพียงเพื่อความสนุกที่ได้พูดคุยกัน แต่การรณรงค์ที่แท้จริงคือการออกไปพบกับคนที่คิดต่างจากคุณ และพยายามโน้มน้าวให้เขาคิดเหมือนคุณ อย่างเช่นเมื่อผมบอกว่าเราต้องทำงานกับผู้นำศาสนา พวกคุณหลายคนจะเริ่มรู้สึกอึดอัดใจ เพราะมันก็เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า การกีดกันผู้หญิงมักจะเริ่มมาจากผู้นำทางศาสนา เอาง่ายๆว่ามีผู้นำศาสนาซักกี่คนที่เป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นนักบวช พระ อิหม่าม หรือตำแหน่งของศาสนาอื่นๆ แต่มันก็ไม่ได้แปลว่า ผู้นำศาสนาเหล่านั้นจะไม่สามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของแอมเนสตี้ที่รณรงค์การยุติความรุนแรงกับผู้หญิงได้ เพราะไม่มีศาสนาใดสอนให้ทำร้ายผู้หญิง ผมเข้าใจว่า มันมีกระทั่งหลักฐานที่บอกว่าผู้นำศาสนาที่มีแต่ผู้ชายเหล่านั้นมีส่วนในการเหยียดและกีดกันผู้หญิง แต่เราก็สามารถที่จะทำงานร่วมกันในด้านที่แนวคิดไม่ขัดขวางกันได้ เช่นการปกป้องไม่ให้ทำร้ายผู้หญิง และตกลงที่จะยังไม่พูดกันในประเด็นที่คิดไม่ตรงกัน และนั่นคือคำตอบของผมในคำถามนี้

 

Q: ในเมื่อคุณมีหน้าที่มากมายขนาดนี้ แล้วในเวลาว่างคุณมีงานอดิเรกอะไรบ้างมั้ย

 

Kumi:  ผมชอบนอน (หัวเราะ) เพราะไม่ค่อยมีโอกาสจะได้นอนเลย แต่เอาจริงๆผมชอบอ่าน และออกกำลังกาย พวกคุณรู้จักคีรีมันจาโร(เขาที่สูงที่สุดในแอฟริกา)มั้ย เมื่อเดือนกรกฎาคมผ่านมาผมพึ่งจะไปปีนเขาที่นั่นมา

 

Q: แล้วคุณยังรักษาความมุ่งมั่นมาได้นานขนาดนี้ได้ยังไง

 

Kumi:  มันก็ยากนะ ที่จะไม่ล้มเลิกไป แต่นี่ก็เป็นคำถามที่ดีมากสำหรับการปิดท้ายนะ เพราะผมมีคำพูดที่เหมาะมากๆสำหรับมันอยู่ เพราะถ้าคุณถามคนที่อยู่มานานอย่างรุ่นผม เราก็มักจะบอกว่ามันยากเพราะชีวิตที่ผ่านมาเราเจอความผิดหวังมากกว่าความสำเร็จ และโลกใบนี้มันควรจะดีมากกว่านี้ ในเมื่อเราสู้มาตลอดสามสิบสี่สิบปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเวลาที่ผมเศร้าหรือท้อใจ ผมจะนึกถึงเพื่อนสนิทของผมคนหนึ่ง ตอนนั้นผมอายุยี่สิบสองและเราต้องหนีออกจากแอฟริกาใต้ เขาถามผมว่า อะไรคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราจะอุทิศให้กับมนุษยชาติได้ ผมก็คิดว่ามันเป็นคำตอบที่ง่าย ก็คืออุทิศชีวิตของเราให้ เขาก็ถามว่า หมายถึงการยอมโดนยิงตายเพื่อให้กลายเป็นวีรชนเหรอ ผมก็ตอบว่า คงใช่นะ แล้วเขาก็บอกว่าผมตอบผิด เพราะมันไม่ใช่การอุทิศชีวิตให้ แต่คือการอุทิศทั้งชีวิตที่เหลืออยู่ให้ คือการใช้เวลาที่เหลืออยู่ทั้งหมดเพื่อทำประโยชน์ให้แก่โลก ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่ใส่ใจเท่าไหร่เพราะผมไม่มีอารมณ์ให้ปรัชญาในตอนนั้น สองปีหลังจากนั้น เพื่อนสนิทของผมก็ถูกฆ่าตายโดยรัฐบาลอย่างโหดร้ายจนแทบจะระบุตัวตนจากศพไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่เราเคยคุยกันเกี่ยวกับการอุทิศชีวิตขึ้นได้ และในที่สุดผมก็เข้าใจ ว่าการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมก็คือการสู้อย่างมาราธอนอันยาวนาน ไม่ใช้รวดเดียวจบ และสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คนๆหนึ่งจะทำเพื่อความยุติธรรมได้ คือการซื่อตรงต่อเป้าหมายของการต่อสู้ จวบจนวันที่เป้าหมายกลายเป็นจริง หรือวันที่คุณจะขึ้นไปข้างบน--หรือลงไปข้างล่างแล้วแต่ที่คุณคิดว่าจะได้ไปนะ (หัวเราะ)

 

ยกตัวอย่างอองซาน ซูจี ครั้งหนึ่งคนทั้งโลกรักเธอ แต่ในวันนี้ จะเพราะการขู่เข็ญของกองทัพ หรือการที่เธอเลือกเองที่จะเงียบ ทำให้เธอมีส่วนร่วมต่ออาชญากรรมที่ทำผิดต่อชาวโรฮิงญา เธอล้มเหลวที่จะซื่อตรงต่อความยุติธรรมในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่

 

เพราะการสู้เพื่อความยุติธรรมมันเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน ดังนั้นการที่ผมได้มาพบกับทุกๆคนในวันนี้ มันทำให้ผมมีความหวัง เพราะมันหมายถึงการที่พวกคุณจะเป็นคนที่สานต่อการลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมต่อไป

 

Q: เราควรจะทำอย่างไรดีเวลาที่เราพยายามจะขอความร่วมมือจากคนที่สนับสนุนเราในเรื่องหนึ่งแต่กลับปฏิเสธที่จะช่วยในเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นตัวฉันเองที่เป็นผู้ลี้ภัย ฉันเข้าร่วมกิจกรรมล่ารายชื่อเพื่อสนับสนุนสิทธิสำหรับเพศทางเลือก แต่พอฉันไปหาผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ หลายๆคนกลับปฏิเสธด้วยเหตุผลทางศาสนา ฉันพยายามเกลี้ยกล่อมว่าในเมื่อพวกเขาเองก็เคยเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ทำไมเขาถึงไม่ช่วยคนเหล่านั้น ทั้งๆที่เขาช่วยให้กลุ่มเพศทางเลือกได้รับสิทธิ์ได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาคิด แต่ผู้ลี้ภัยก็ปฏิเสธเพราะถ้าช่วยคนเหล่านั้นก็ไม่ต่างกับเห็นด้วยกับพวกเขา ถ้าเป็นคุณ คุณจะมีวิธีอย่างไรเพื่อเกลี้ยกล่อมพวกเขา

 

Kumi: ผมตอบได้ง่ายมาก ทำอย่างที่คุณกำลังทำ ทำให้พวกเขาเข้าใจว่า การสนับสนุนให้กลุ่มเพศทางเลือกได้รับสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ต่างกับการสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยหรือชาวมุสลิมได้รับสิทธิ์เหมือนกัน เพราะคนที่สนับสนุนคนมุสลิมก็ไม่ได้ต้องการเป็นมุสลิม คนที่สนับสนุนชนกลุ่มน้อยก็ไม่ได้ต้องการเป็นเผ่าเดียวกับคนกลุ่มนั้น ผมไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรื่องง่าย แต่นี่ก็คือข้อความที่พวกเราพยายามสื่อมาโดยตลอด

 

Q: ปัจจุบัน ทางแอมเนสตี้มีท่าทีต่อเรื่องกลุ่มผู้ลี้ภัยอย่างไรบ้าง

 

Kumi: เรามองว่าสำคัญมาก เพราะนอกจากผู้ลี้ภัยสงครามแล้ว เราก็มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะในไม่ช้าเราจะมีผู้ลี้ภัยเพิ่มในหลักล้านเพราะพื้นที่เดิมของเขาอยู่อาศัยไม่ได้ ดินถูกทำลาย และน้ำจืดหายไป

 

ท้ายที่สุดกิจกรรมถามตอบกับคุณคูมิก็จบลงท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น ทางแอมเนสตี้ ประเทศไทยได้มอบของที่ระลึกให้กับคุณคูมิ และผู้ร่วมงานทุกคนก็ได้ร่วมกันถ่ายรูปหมู่อย่างสนุกสนานก่อนที่จะเชิญคุณคูมิให้ได้ลิ้มลองอาหารไทยที่ทางแอมเนสตี้ ประเทศไทยจัดเตรียมไว้ให้ก่อนจะแยกย้ายกันโดยสวัสดิภาพ