ชุมชนคือสิ่งที่ต้องรักษา คุยกับชาวเทพาเรื่องสิทธิ และชะตาชีวิตที่ขอออกแบบเอง

24 สิงหาคม 2561

สัมภาษณ์โดย วิรดา แซ่ลิ่ม

ถ่ายภาพโดย ยศธร ไตรยศ

“แต่ก่อนชุมชนเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีสิทธิในการปกป้องแม่น้ำ เขาคิดว่าแม่น้ำเป็นของรัฐบาล เป็นของอำเภอ คิดว่าอำเภอเป็นคนคุม จังหวัดเป็นคนคุม  ต้องยอมให้เขาทำ ก็ต้องขอบคุณโรงไฟฟ้าที่ทำให้คนเข้าใจสิทธิของตัวเองมากขึ้น”

 

บ่าว มัธยม ชายเต็ม พูดไปด้วยขำไปด้วยขณะล่องเรือผ่านอุโมงค์โกงกาง แหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของ อ.เทพา จ.สงขลา ส่วนคนฟังที่นั่งอยู่บนเรือลำเดียวกันมีอาการลังเลอยู่บ้างที่จะขำตาม เพราะภาพวันสลายการเดินเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี และการอดอาหารหน้าองค์การสหประชาชาติ ยังให้ความรู้สึกเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

 

แต่ใช่หรือไม่ที่การขำให้กับการต่อสู้อันยาวนานถึงสี่ปีของพี่น้องเทพา ยืนยันกับเราว่า หัวใจของนักปกป้องสิทธิที่นี่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว บทสนทนาตลอดการมาเยือนเที่ยวนี้เราคุยกับ บ่าว ก๊ะเยาะ และบังซี

รอกิเยาะ สะมะแอ(ก๊ะเยาะ)

 

ก๊ะบอกว่าก๊ะเป็นนักต่อสู้มาตลอดชีวิต?

 

ตอนเด็ก ๆ ก๊ะเหมือนกับเป็นนักสู้ เราคนไม่รวยอะเนอะ ต้องต่อสู้ชีวิต โชกโชนมาทุกสิ่ง ตอนเล็ก ๆ ไม่มีบ้าน ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองนะ เราเคยนอนอยู่กลางดิน กินกลางทราย ต่อสู้ให้อยู่วันต่อวัน เราเลยรู้ว่าในการต่อสู้เราต้องอดทนแค่ไหน ก๊ะทำนา ทำอะไรทุกอย่าง ออกทะเลเองกับพ่อ เลยรู้ว่าปลาตรงนี้มันอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่เราเล็ก ๆ เราโตมากับทะเลนี้แหละ ก๊ะเลยเปรียบว่าทะเลเหมือนธนาคารของเรา หากินกันทุกคนเลยที่เรารู้จักตั้งแต่เล็กมา เขาอาชีพประมงนี่แหละ ไม่ก็ทำเกษตร ปลูกข้าวอะไรแบบนี้ ผักอะไรก็ปลูกนะ ต้นสองต้นเราไม่ต้องซื้อ ดินตรงนี้เราปลูกตั้งแต่เล็ก เรารู้ว่ามันอุดมสมบูรณ์แค่ไหน แต่ก่อนทูนปลาไปขายที่ตลาดเทพา เมื่อก่อนไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ ไปปัตตานีต้องไปทางเรือนะ

 

แล้วทุกวันนี้สู้กับอะไร?

 

สู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินนี่แหละ เพราะถ้าโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นมา มันหมดทุกสิ่งทุกอย่างเลย ชุมชนก็ต้องหายไป มันใหญ่มากการต่อสู้ครั้งนี้ต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน เหมือนเราใช้ชีวิตเป็นเดิมพันเลย เราต่อสู้กับรัฐ กับกฟผ. สำหรับประชาชนอย่างเรา การที่ต้องต่อสู้ขนาดนี้ ก๊ะถือว่าใหญ่ที่สุดแล้ว แต่ใหญ่แค่ไหนเราต่อสู้ สู้กันบนความจริงมันก็โอเคอะ เราเอาความจริงเข้าสู้ ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องปกป้องหมดเลย กุโบร์ มัสยิด ตรงนี้มีวัดด้วยนะ วัดสำคัญกับชาวไทยพุทธ เราเป็นพี่น้องกัน เราก็ต้องปกป้องหมดเลย

 

ยิ่งกุโบร์มันมีคุณค่าทางจิตใจกับเรามากเลย เพราะพ่อแม่ของเราอยู่นั้น เราต้องปกป้องสุดชีวิต ถ้าเราปกป้องตรงนั้นไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงอย่างอื่น ถ้าเราปกป้องชุมชนไม่ได้ มันสลายหมดเลย แล้วถ้าชุมชนเราสลาย เราหมดแล้วชีวิตนี้ กว่าเราจะได้ชุมชนมาไม่รู้กี่สิบปี อย่างมัสยิดไม่ใช่สร้างวันเดียวเสร็จนะ มัสยิดหนึ่งใช้เวลาสร้างเป็นสิบๆ ปี เป็นคุณค่าทางจิตใจของเรา เพราะเราต้องขอบริจาคด้วยใจทั้งนั้น แล้วจู่ ๆ จะมาทำลาย มันไม่ได้

 

พอมาเจอเรื่องแบบนี้ เราเลยคิดว่า กูเป็นนักต่อสู้ตั้งแต่เล็กแล้ว กูไม่กลัวเรื่องแบบนี้ เราอยู่บนความถูกต้อง อยู่บนความจริงตั้งแต่เล็ก เราอ่านหนังสือออก เราก็อ่านข้อมูลอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ เราก็รู้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมันกระทบกับเราอย่างแรงเลย เราเลยอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ก็เลยต่อสู้มา

 

สู้เท่าที่แรงเราไหว แต่ตั้งปณิธานในใจว่าเราจะไม่ยอมยกให้เขาหรอก ชุมชนของเราเปรียบเหมือนมรดกตกทอดมาไม่รู้กี่รุ่น ถ้าเราปกป้องตรงนี้ไม่ได้ ชีวิตนี้ก็เสียชาติเกิด

 

มีอุปสรรคอะไรบ้างในการยืนหยัดต่อสู้?

 

ก๊ะอยู่ตัวคนเดียว เป็นแม่หม้าย การต่อสู้จะว่าลำบากมันก็ลำบาก เพราะเราทำงานด้วย หากินด้วย มาต่อสู้ด้วย มันก็เลยไม่สมบูรณ์แบบ เวลาไม่มีตังค์เราก็ต้องทำมาหากินก่อน พอเรามีเงินนิดหน่อยเราก็มาความรู้ต่อ พูดง่าย ๆ เราคนไม่รวย ไม่มีกะตังค์ อยู่คนเดียวต้องเลี้ยงลูกตั้งสองคน พอเข้าปีที่สองของการต่อสู้ก็ดีขึ้นนิดนึง เพราะลูกทำงาน ก๊ะก็เลยเบาตัวไปหน่อย เลี้ยงแต่หลาน ลำบากก็ตัวเล็กเนี่ยเวลาไปนู่นนี่ เราจะทำตัวเต็มที่ ต่อสู้เต็มที่ก็ทำไม่ได้ แต่กำลังใจก็อยู่ที่หลานนี่แหละ เรามีเป้าหมาย ต่อสู้เพื่อหลานเราอะเนอะ จะได้อยู่กับหลานเราไปตลอด ทำอะไรเราต้องคิดถึงหลานให้เยอะ ๆ หน่อย สิ่งไหนถ้าเราผิดพลาดไปหลานเราจะอยู่ยังไง เราต้องคิดหนัก

 

ก่อนจะขึ้นไปกรุงเทพฯ ทีมคุยกันว่าอะไรบ้าง?

 

เวลาจะไปกรุงเทพฯ เราก็ต้องคุยกับทีมของเราว่า ไปครั้งนี้ไม่รู้จะมีโอกาสได้กลับไหมนะ อธิบายหมดเลยว่าไปครั้งนี้เราเสี่ยงนะ เราต้องทำใจนะ แต่เราตัดสินใจแล้ว เราจะปกป้องทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อลูกหลานเรา เพื่อคนทั้งประเทศ เราก็ต้องเสียสละว่า เอ้าไม่เป็นไร โดนจับก็จับ พอเราคิดว่าเราพร้อมแล้วที่จะเจอกับสถานการณ์นั้น เราก็พร้อมที่จะเผชิญกับทุกอย่างที่อยู่ข้างหน้า

 

การต่อสู้ครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจเรื่องสิทธิว่าอย่างบ้าง?

 

ก๊ะพยายามบอกกับพี่น้องนะ ว่าเกิดมาแล้วเราต้องใช้สิทธิของเราให้เต็มที่ สิทธิในการปกป้องทุกสิ่งทุกอย่างเลย สิทธิของเรามีค่ามาก ตีเป็นเงินทองไม่ได้

ซานุซี สาและ (บังซี)

 

ในวันที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามา บังมองการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

 

การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาเราก็อยากได้  แต่เราอยากได้การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่มันสอดคล้องกับในพื้นที่มากกว่า เราเป็นพื้นที่ประมง เราเป็นแหล่งผลิตอาหาร ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงมันน่าจะเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรามีอยู่

 

นอกจากนี้ เรามองว่าไม่ว่าคนที่ไหนก็ต้องรักอาชีพของตัวเอง คนที่อยู่บนภูเขา เขาก็รักอาชีพของเขา มันก็เหมือน ๆ กันกับชาวประมง เราก็รักในอาชีพของเรา ชีวิตที่เขาอยู่หรือสิ่งที่เขามีมันได้จากอาชีพของเขา เหมือนชาวประมงเลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ตอนนี้มันก็มาจากอาชีพของเราเหมือนกัน ถ้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาจริง ๆ สิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้มันจะไม่เหมือนเดิม อย่างแรกผมเองต้องถูกบังคับโยกย้ายไปจากพื้นที่

 

ย้ายไปที่ไหน?

 

เราไม่รู้ สี่ปีที่ผ่านมาเราถามคำถามนี้มาตลอด แต่เราไมได้คำตอบว่าเขาจะให้เราไปอยู่ที่ไหน หากเราโยกย้ายไปแล้ว เราไม่ได้เสียแค่บ้านของเรา เราไม่ได้เสียแค่ที่ดินของเรา แต่มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเสีย เช่น อาชีพของเรา ชุมชนของเรา  การจะสร้างชุมชนมันไม่ใช่ใช้เวลาแค่ปีสองปี และในศาสนาอิสลาม การโยกย้ายมันต้องมีมัสยิดหรือปอเนาะ องค์รวมของมันต้องครบจริง ๆ นี่เราไม่รู้ว่าเขาจะย้ายเราแบบเดี่ยว ๆ หรือแบบหมู่คณะ

 

บังเคยออกจากชุมชนไปทำงานข้างนอก อะไรทำให้ตัดสินใจกลับมา?

 

ผมเกิดที่นี่ สิ่งแรกที่ผมเจอเลยคือทะเล พ่อแม่ของผมก็เป็นชาวประมงมาแต่ดั้งเดิม ช่วงอายุวัยยี่สิบกว่า ๆ มันเริ่มเกิดอารมณ์อยากจะลอง อยากจะออกไปข้างนอก ก็มีโอกาสไปเป็นกุ๊กที่ประเทศมาเลเซีย ทั้ง ๆ ที่ทางโน้นเขาให้ข้อเสนอดีมาก เงินเดือนก็ดี แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ชีวิตของเรา เราขาดทะเลไม่ได้ เราก็ทิ้งงานที่นู่นแล้วกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม เป็นชาวประมง มันสบายใจมากกว่า ถึงเงินน้อยแต่เราภูมิใจในอาชีพของเรา วันหนึ่งเราได้ 300-400 บาท แต่เวลาที่เหลือเราได้อยู่กับพ่อแม่ของเราและพี่น้องของเรา ส่วนตัวมองว่าสิ่งเหล่านี้มันมีค่ามากกว่าเงินทองเสียอีก สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือครอบครัว

 

การชุมนุมครั้งล่าสุด บังขึ้นไปกรุงเทพฯ ด้วยไหม?

 

ไปครับผม

เรามองว่า ถ้าเราอยู่ที่บ้านเท่ากับเรายอมรับที่จะถูกโยกย้าย ยอมรับที่ชุมชนของเราจะถูกสลาย ทำให้เราพูดคุยกับพี่น้อง ตัดสินใจว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องขึ้นไปกรุงเทพฯ ต้องไปบอกข้อมูลว่าเราเดือดร้อนยังไง ถ้าเราไม่ไปเราต้องเสียบ้านแน่นอน สิ่งที่เรามีวันนี้มันจะต้องหายไป เราสู้ดีกว่า เรามีข้อมูล เราเอาความจริงไปบอก สุดท้ายก็มีการชะลอไปก่อน ให้ศึกษาผลกระทบใหม่

 

เราบอกตรง ๆ ว่าในพื้นที่ของเรา เราสามาถระบุได้เลยว่าตรงไหนเป็นยังไง แต่ในรายงาน EHIA มันไม่ตรงกับในพื้นที่เลย เช่น บอกว่าที่นี่ไม่มีป่าโกงกางมีแต่ป่าเต็งรัง ทั้งชีวิตไม่เคยเจอเลย บอกว่าฤดูฝนเจอแต่ปลาช่อน เป็นได้ยังไง ทั้งที่เราอยู่มาสามสิบกว่าปีแล้วเราไม่เคยเจอ สิ่งที่เราเจอมันมีแต่ปลากระบอก กุ้ง ปู ปลาสลิดหิน และปลากะพง

 

สู้มาถึงวันนี้เข้าใจเรื่องสิทธิว่าอย่างไรบ้าง?

 

เมื่อก่อนเราเข้าใจแค่เพียงว่าเราต้องปกป้องพื้นที่ของเรา เราต้องดูแลพื้นที่ของเรา เรื่องสิทธิเรามีความเข้าใจน้อยมาก ว่าเรามีสิทธิอย่างนี้ด้วยเหรอ เราสามารถเรียกร้องข้อนี้ได้เหรอ เราสามารถทำอย่างนี้ได้เหรอ น้อยมากที่เราจะเข้าใจ แต่สุดท้ายพอได้มีการต่อสู้เหมือนกับเราได้มีการศึกษานอกโรงเรียน เรายังเอ่ยกันว่า ถ้าไม่มีโครงการตัวนี้ เราก็ไม่สามารถอยู่มาถึงจุดนี้ได้ นี่คือข้อดีมันที่ทำให้เรารู้ว่าคนในพื้นที่เราสามัคคี ทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้พบเพื่อนใหม่ข้างนอก ได้รู้ว่ามีคนที่เขารู้สึกเหมือนกับเรา ในสิ่งร้าย ๆ มันก็มีข้อดีอยู่

 

คดีความที่เจอส่งผลอย่างไรต่อชุมชน?

 

เมื่อก่อนมองว่าการถูกคดีความมันเหมือนเป็นเรื่องลำบากใจ เป็นเรื่องเหนื่อย เรื่องล้า แต่สุดท้ายพอเราได้ฟังที่ทนายบอกว่ามันเป็นหนึ่งวิธีการในการต่อสู้ เรามองว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันถูกต้องแล้ว แต่ในเมื่อมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราก็ได้ใช้สิทธิในการต่อสู้ของเราเพื่อบอกว่าตัวเราบริสุทธิ์ คือพี่น้องทุกวันนี้ไม่ได้เหนื่อย ไม่ได้ล้ากับการถูกคดี ยิ่งมีกำลัง ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เราสู้มากกว่า

 

ส่วนหนึ่งภายในใจมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเราถูกละเมิดสิทธิ ถ้าพูดตามความเป็นจริงเหมือนเราถูกกลั่นแกล้ง  ทุกกระบวนการทุกขั้นตอนเราทำถูกตามกฎหมายทุกสิ่งทุกอย่าง แต่สุดท้ายมันยังมีคดีความออกมา และเราก็บอกแล้วว่าการเดินของเรา เราเดินโดยสงบ โดยอหิงสาจริง ๆ ไม่มีอาวุธ บอกเจตนารมณ์ของเราแล้วว่าเราจะเดินไปหานายกฯ แต่สุดท้ายมันก็เกิดการสลายชุมนุม มันทำให้เราเกิดความน้อยใจ แค่เราจะไปบอกความเดือดร้อนของเรา ทำไมต้องมีการปิดกั้นและทำกับเราแบบนี้ด้วย

 

ทำไมยังกล้าสู้อยู่ ทั้งที่มีคดีความและอุปสรรคอื่นๆ?

 

มาจากหลายอย่าง หนึ่ง เป็นเพราะพี่น้องเราเป็นชาวประมง เราเป็นคนส่งอาหารให้กับพี่น้องข้างนอก  เราไม่ได้มองแค่ตัวเราเอง ถ้าเกิดโรงไฟฟ้าตรงนี้จริง ๆ มันไม่ได้กระทบแค่คนที่นี่ มันยังกระทบไปทั่ว  อีกส่วนหนึ่งมาจากจิตใต้สำนึกของเรา เรายังจำคำสอนของบรรพบุรุษเราตั้งแต่แรกเริ่มที่มาตั้งรกรากที่นี่ เราก็ไม่อยากให้มันต้องเปลี่ยนไปในรุ่นเรา และทางศาสนาเขาก็ยังสอนอีกว่า สิ่งที่พระเจ้าให้ เราต้องช่วยปกป้องและดูแล

 

มัธยม ชายเต็ม (บ่าว)

อยากอยู่ในสังคมแบบไหน?

 

ผมอยากอยู่ในสังคมที่เรียบง่ายไม่วุ่นวาย ไม่สร้างมลพิษ มีธรรมชาติอยู่ด้วย ผมอยากอยู่ชนบทนี่แหละ แต่ประเทศมันก็ขยายความเจริญไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าผมมีความผูกพันกับทะเล มีความผูกพันกับแม่น้ำ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันคือความยั่งยืน ชั่วลูกชั่วหลานของเราถ้ามีคลองอยู่อย่างนี้ มีทะเลอยู่อย่างนี้เราไม่อดแน่นอนแต่ถ้าไม่มีคลอง ไม่มีทะเล ลูกหลานเราบางคนเขาไม่ได้เรียนเก่งอะไร คนกลุ่มนี้เขาจะไปทำมาหากินอะไร เขาต้องไปเป็นลูกน้องของรายจ้าง ซึ่งได้วันละไม่กี่บาท วิถีชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไป ใช่ไหมครับ ผมจึงคิดว่าการมีธรรมชาติอยู่มันช่วยได้หลายอย่าง

 

คนที่นี่ที่เลี้ยงปลากะพง คนละไม่กี่กะชัง ช่วงระยะเวลา 5-6 เดือน มีรายได้ 2-3 แสน เป็นรายได้ที่ดีมาก มันชัดเจนว่าเราได้กำไรจากส่วนนี้ โดยที่เราไม่เหนื่อย เรามีทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เราไปจับปลาในทะเลมาทำเหยื่อเลี้ยงปลากะพง เราไม่ต้องซื้ออาหาร เราลดต้นทุนอย่างมาก นี่คือความพิเศษของชุมชนเรา เราอยากจะเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้ แต่เราก็โดนรุกหลายด้าน ซึ่งเราก็กลัวว่าเราจะเป็นเหมือนชุมชนอื่นที่เคยล่มสลายมาแล้วเพราะการพัฒนาที่ไม่ถูกต้องของภาครัฐ

 

แล้วเรามีอำนาจในการต่อรองแค่ไหนในการสร้างสังคมที่เราอยากอยู่?

 

เราต้องทำให้ชุมชนเราเข้มแข็ง ให้ชุมชนเป็นคนจัดการ หากรัฐพยายามที่จะเสนอให้ชุมชน ถ้าชุมชนยืนยันว่าไม่ต้องการ เราคิดว่าเราจะอยู่ได้ แต่ถ้าชุมชนอ่อนแอ รัฐจะทำอะไร ชุมชนไม่กล้าเถียง ไม่กล้าเสนอว่าเราต้องการอะไร สุดท้ายเราก็อยู่ไม่ได้ ต้องแตกกระจัดกระจายกันไป 

 

ต่อจากนี้ไป จะเดินทิศทางการต่อสู้อย่างไร?

 

เราพยายามที่จะหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยเริ่มจากตัวของเราเองก่อน โดยให้ชุมชนและชาวบ้านที่มีความสามารถทำขึ้นมาเอง และให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป ว่าเราสามารถที่จะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ 100% โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือถ้าเป็นไปได้เราจะไม่ใช้ไฟจากกฟผ.เลย

 

มีอุปสรรคอะไรบ้าง?

 

อุปสรรคของการรวมตัวกันคือความไม่เข้าใจ

 

หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องออกมารวมตัวกันคัดค้าน คัดค้านไปเพื่ออะไร เขาไม่รู้ว่าอนาคตเขาจะเจอกับอะไร หลายพื้นที่แล้วที่เคยเสียไปเพราะเรื่องแบบนี้ เพราะรัฐเป็นคนกำหนดให้ชุมชนต้องเป็นแบบนี้ต้องเป็นแบบนั้น สุดท้ายชุมชนก็ล่มสลาย แหล่งทำมาหากินต้องล่มสลาย ชุมชนยังมีความรู้ตรงนี้น้อย เพราะคนในชุมชนเขาหาเช้ากินค่ำ เขาไม่มีเวลาไปรู้เรื่องรู้ราวเลยว่ารัฐบาลคิดอะไรกับชุมชนเขา นี่คือปัญหา เราพยายามที่จะให้พี่น้องได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้ว่าอนาคตชุมชนเราอาจจะเจอกับสิ่งเหล่านี้ และเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนเพื่อที่เราจะอยู่ได้

 

ชาวบ้านเอง แม้แต่ผมเอง เราไม่ได้เรียนจบสูงอะไร และภาครัฐก็ไม่เคยมีการสอนให้ชุมชนได้รับรู้เรื่องสิทธิของชุมชน เขาก็ปล่อยให้เราอยู่แบบชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ชาวบ้านก็เลยเป็นคนโง่ในสายตาของรัฐบาล เขาจะทำอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ไล่ไม่ทัน ตามไม่ทัน โรงไฟฟ้ามาบอกว่าใช้เทคโนโลยีที่สะอาด ชาวบ้านก็เชื่อเพราะเขาไม่มีชุดความรู้ แต่ก่อนชุมชนเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีสิทธิในการปกป้องแม่น้ำ เขาคิดว่าแม่น้ำเป็นของรัฐบาล เป็นของอำเภอ คิดว่าอำเภอเป็นคนคุม จังหวัดเป็นคนคุม  ต้องยอมให้เขาทำ ก็ต้องขอบคุณโรงไฟฟ้าที่ทำให้คนเข้าใจสิทธิของตัวเองมากขึ้น