ภาพวาดผู้ลี้ภัยจากปลายปากกาเด็กเพาะช่าง

4 เมษายน 2561

เรื่องและภาพ: ธิดาพร ศรีจันทร์ คณะออกแบบ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง

 

1-1.jpg

 

สัม ทัน ชายหนุ่มผู้หนีรอดจากทุ่งสังหาร
พวกเราหนีออกจากบ้านเกิดพร้อมด้วยชาวกัมพูชาประมาณ 2,000 คน แล้วผมกับครอบครัวก็มาถึงฝั่งแม่น้ำที่กั้นเขตแดนประเทศไทยพวกเราเบียดเสียดกันลงเรือลำเล็กๆ ข้ามฟากได้อย่างปลอดภัย ทันทีที่เรือลำสุดท้ายหันหัวเรือกลับ ทหารเขมรแดงก็ปรากฏตัวให้เห็นแล้วยิงใส่พวกเรา
เราทุกคนรู้สึกโล่งอกเมื่อข้ามมาถึงฝั่งไทยอย่างปลอดภัย
ทุกคนดีใจ ยกเว้นพวกเรา เพราะไม่มีพ่อและลุงมาด้วย
ท่านทั้งสองถูกจับตัวไปเมื่อหลายเดือนก่อน
แม่ได้แต่นั่งร้องไห้ 

2-1.jpg

อีหย่ะ สาวน้อยผู้ลี้ภัยจากความรุนแรงทางศาสนา

อีหย่ะ สาวน้อยชาวปากีสถานวัย 7 ปี ปัจจุบันเธอมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้แสวงหาการลี้ภัย เธอและครอบครัวของเธอลี้ภัยมาจากเมืองการาจีของปากีสถาน ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ครอบครัวของเธอที่นับถือศาสนาคริสต์ตกเป็นเป้าโจมตีที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต


ปัจจุบันครอบครัวของเธออาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว รอคอยการอนุมัติจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่

3-1.jpg

ไซม่า หญิงสาวผู้ถูกปิดกั้นโอกาสทางการศึกษา

ไซม่าเล่าว่าเหตุผลที่เธอลี้ภัยมาประเทศไทยเริ่มจากการคลุมถุงชนในวัฒนธรรมของเธอ ที่เด็กผู้หญิงนั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาและเมื่ออายุประมาณ 12-14 ปีก็จะถูกจับแต่งงานกับชายที่มีอายุมากกว่าโดยฝ่ายชายจะจ่ายเงินให้กับครอบครัวของผู้หญิงและมาที่บ้านผู้หญิง

เธอเองก็ถูกบังคับแต่งงานตามวัฒนธรรมของเธอ แต่เธออยากเรียนด้านกฎหมาย แต่ก็ถูกห้ามปรามจากครอบครัวเพราะสาขานิติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับผู้หญิง เธอหนีออกจากบ้านก่อนวันแต่งงานกับแฟนหนุ่มที่เธอรัก(ไม่ใช่คนที่เธอถูกบังคับแต่งงานด้วย) ทำให้เธอถูกตามล่าจากครอบครัวของเธอ เพราะครอบครัวของเธอรู้สึกว่าเธอทำให้วงศ์ตระกูลเสียชื่อเสียง

 

4-1.jpg

เจมส์ ผู้ลี้ภัยจากความเห็นต่างทางการเมือง 

เจมส์ เด็กหนุ่มชาวกัมพูชาวัย 23 ปี ที่ต้องลี้ภัยมาตั้งแต่เด็กพร้อมกับครอบครัวเพียงเพราะความคิดเห็นทางการเมืองของคุณพ่อ 

เจมส์เล่าว่าชีวิตผู้ลี้ภัยไม่ได้ง่ายเลย ทั้งต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ชินในตอนแรก แต่โชคดีเนื่องจากความคล้ายคลึงกันของภาษาและวัฒนธรรม ทำให้ตอนนี้เขาสามารถปรับตัวและพูดภาษาไทยได้เข้าใจถึง 80% แต่ถึงกระนั้น เขาก็ยังนึกถึงบ้านอยู่ดี

เจมส์เล่าต่อว่า ความกังวลในขณะนี้คือความปลอดภัย ที่จะโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะถ้าโดนจับกุมไปแล้ว แม้แต่สหประชาชาติก็ยากที่จะให้ความช่วยเหลือได้ แต่ก็พยายามคิดในแง่บวกและใช้ชีวิตให้อยู่กับปัจจุบันที่สุด พร้อมทั้งบอกว่าผู้ลี้ภัยก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แค่อยากใช้ชีวิตที่ธรรมดาและปลอดภัย 

 

5-1.jpg

บ็อกเซอร์ ชาวปากีฯที่ชีวิตถูกทำลายเพราะความแตกต่างทางศาสนา

บ็อกเซอร์ เป็นนักมวยสากลที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงของประเทศปากีสถาน เป็นตัวแทนของประเทศเพื่อแข่งขันโอลิมปิค มีชีวิตที่ดี ร่ำรวยและโด่งดัง แต่สุดท้ายชีวิตถูกทำลายเพียงเพราะเค้านับถือศาสนาคริสต์

เขามีภรรยาและลูกชาย 3 คน ใช้ชีวิตอย่างปกติในประเทศของเค้า แต่แล้ววันหนึ่งได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน กลุ่มชาวมุสลิมได้รวมตัวกันไล่ล่าโจมตีและตามฆ่าคนที่นับถือศาสนาอื่น รวมถึงผลักดันให้ออกนอกประเทศ

เนื่องด้วยครอบครัวบ็อกเซอร์เป็นบุคคลมีชื่อเสียง จึงถูกหมายหัวเป็นอันดับต้นๆ ภรรยาของเค้าถูกโจมตีก่อนโดยการหักนิ้วมือ ต่อมาลูกชายคนกลางอายุ 15 ก็โดนจับตัดลิ้นและตัดริมฝีปากบนจนขาดแยกออกจากกัน บ็อกเซอร์จึงต้องพาครอบครัวหนีออกนอกประเทศให้เร็วที่สุดก่อนที่จะมีใครเสียชีวิต

6-1.jpg

กัลม่า ชาวโรฮิงญาที่ต้องหลบหนีจากการระเบิดไล่ที่

กองทัพพม่าได้ติดตั้งทุ่นระเบิดสังหารบุคคลซึ่งเป็นอาวุธต้องห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตามแนวพรมแดนติดกับบังกลาเทศ ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้หลบหนีออกจากพื้นที่บริเวณนั้น โดยไปตั้งค่ายพักพิงชั่วคราวในฝั่งบังกลาเทศ แต่มักเดินทางข้ามพรมแดนกลับมาที่บ้านเพื่อเอาเสบียงหรือเพื่อช่วยคนอื่นๆให้ข้ามไปบังกลาเทศได้

กัลมา อายุ 20 ปี ได้ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “แม่สามีของดิฉันเดินทางกลับไปที่หมู่บ้านของเรา (โดยออกจากค่ายที่พักพิง) เพื่อเอาน้ำมาใช้อาบ แต่อีกไม่กี่นาทีต่อมา ดิฉันได้ยินเสียงระเบิดดังโครม และได้ยินเสียงคนเหยียบกับระเบิด สักพักหนึ่งดิฉันถึงรู้ว่าเป็นแม่สามีของดิฉันเอง”

7-1.jpg

เด็กน้อยชาวโรฮิงญาผู้ถูกไฟไหม้จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสลงพื้นที่ที่โรงพยาบาลคาซ่า คอกซ์บาซา ประเทศบังกลาเทศ เพื่อรายงานข่าวสถานการณ์วิกฤตผู้อพยพโรฮิงญาที่หนีออกจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา หลังเหตุความรุนแรงในพื้นที่ พบเด็กหญิงวัย 5 ขวบ เธอมีแผลจากไฟไหม้เกือบทั้งร่างกาย โดยเฉพาะขาทั้งสองข้างปรากฏร่องรอยบาดแผลอย่างเห็นได้ชัด ขาข้างซ้ายของเธอหักและยังต้องใช้เครื่องมือแพทย์ที่เหมือนเสาก้างปลาช่วยดามให้กระดูกต่อกัน  

พ่อของเธอเล่าว่า วันเกิดเหตุทุกคนวิ่งหนีไฟที่ไหม้บ้าน แต่โชคร้ายที่เธอกระโดดลงทางหน้าต่างทำให้ขาหัก ส่วนคนอื่นๆ ภายในบ้านไม่ได้รับบาดเจ็บ 

8-1.jpg

โจเซฟ ชาวปากีฯผู้ลี้ภัยจากความเห็นต่างทางศาสนา

โจเซฟทำงานในหน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่ปากีสถานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาถูกคุกคามอย่างรุนแรงเนื่องจากการทำงานของเขา ในปี 2555 มือปืนไม่ทราบชื่อได้กราดยิงใส่เขาระหว่างอยู่บนถนน หลังจากนั้นมีบุคคลลึกลับโทรศัพท์มาข่มขู่ลูกๆของเขาในปี 2556โจเซฟจึงตัดสินใจให้ภรรยาและลูกๆเดินทางไปกรุงเทพก่อน และในปีต่อมา เขาได้เดินทางไปสมทบกับครอบครัวที่กรุงเทพ

โจเซฟให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า การใช้ชีวิตในประเทศไทยโดยไม่มีงานทำหรือมีแหล่งรายได้เป็นเรื่องยากลำบากมาก และการใช้ชีวิตในประเทศไทยโดยไม่มีวีซ่าที่ถูกต้องก็เสี่ยงอันตรายมาก เรามักกลัวเสมอว่าจะถูกจับกุม ลูกๆของผมมีสภาพจิตใจที่แย่มากๆ ระหว่างอยู่ที่นั่นตำรวจได้มาที่บ้านของเราสองครั้ง เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เราอยู่กันในห้อง ตำรวจอยู่นอกห้อง ลูกผมกลัวมาก ตอนที่ผมมองลูก ผมรู้ว่าพวกเขากลัวมาก ลูกสาวของผมกลัวมาก ผมได้แต่บอกว่า “พ่อเสียใจที่พาลูกมาที่นี่ พ่อรักลูกนะ”

9-1.jpg

กรงขังไร้หลังคา

รายงาน “กรงขังที่ไร้หลังคา”ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยให้เห็นบริบทความเป็นมาของคลื่นความรุนแรงครั้งล่าสุดในเมียนมาที่กองกำลังความมั่นคงสังหารชาวโรฮิงญา วางเพลิงเผาทั้งหมู่บ้านวอดวาย และกดดันให้ชาวโรฮิงญากว่า 600,000คนหลบหนีข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ

การสอบสวนเป็นเวลาสองปีชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่สร้างข้อจำกัดร้ายแรงต่อการดำเนินชีวิตทุกด้านของชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ มีการกักบริเวณในลักษณะที่เป็นเหมือนค่ายกักกัน ทำให้พวกเขาประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา ในบางพื้นที่ชาวโรฮิงญาไม่สามารถออกจากหมู่บ้านของตนเองได้ สถานการณ์ปัจจุบันเข้ากับหลักเกณฑ์ทุกข้อในนิยามตามกฎหมายของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรูปแบบการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ

10-1.jpg

ครอบครัวตามิม ผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองซีเรีย

ก่อนสงครามกลางเมืองซีเรียจะปะทุ ยาซาร์ ตามิมเป็นวิศวกรเครื่องกลรถไฟ ส่วนรานา ตามิมภรรยาของเขาก็เป็นเชฟในโรงแรมที่กรุงดามัสกัส ทั้งคู่มีชีวิตสงบและสุขสบาย แต่เมื่อบ้านถูกระเบิดถล่ม พวกเขาและลูกอีก 2 คนต้องอพยพมายังประเทศไทย สถานที่ที่ไม่เคยรู้จัก

เพราะสถานทูตไทยในซีเรียเป็นประเทศเดียวที่อนุมัติวีซ่าให้พวกเขา แต่การทิ้งทุกอย่างมาที่ไทยก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก การอยู่เมืองไทยโดยไม่มีรายได้ใดๆ เลยจึงเป็นเรื่องยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้ครอบครัวตามิมได้มีความสุขอย่างแท้จริง มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีเสรีภาพในการดำรงชีวิต ก็คือการได้ตั้งถิ่นฐานถาวรในที่ที่ปลอดภัย ได้รับการยอมรับตามกฎหมายว่าเป็นพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน หรือแม้แต่ในเมืองไทย ที่พวกเขาอยู่มา 4 ปี และอยากจะเรียกที่นี่ว่า "บ้าน" อย่างเต็มภาคภูมิ