สิทธิมนุษยชนเป็นแบบแผนในชีวิต: ชวนคุยกับนักศึกษาฝึกงานแอมเนสตี้

20 มีนาคม 2561

เรื่อง: ประเสริฐ กาหรีมการ 
ภาพ: ยศธร ไตรยศ

 

การฝึกงานเป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานในองค์กรที่เป็นมืออาชีพซึ่งมีความแตกต่างจากชีวิตการเรียนหนังสืออย่างมาก วันนี้แอมเนสตี้ชวนคุยกับนักศึกษาฝึกงานอย่าง ญิง-นัสริน จารง นักศึกษาสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

อะไรคือแนวคิดและเรื่องราวเบื้องหลังที่ทำให้เธอยอมเดินทางไกลมาจากปัตตานีเพื่อมามาฝึกงานกับองค์กรสิทธิมนุษยชนในระดับโลกอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 

 

ทำไมถึงเลือกมาฝึกงานที่แอมเนสตี้

ก็เพราะทำงานอยู่ที่ชุมนุม Amnesty Club ที่ปัตตานีมาตั้งแต่อยู่ปีสองแล้ว ทำให้คลุกคลีกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมาปีกว่าๆ เมื่อถึงตอนจะเลือกสหกิจเลยคิดว่าอยากจะเพิ่มความรู้เรื่องสิทธิของเรา อีกทั้งเราเองก็มีประเด็นที่สนใจอยากจะทำอยู่ด้วย คือเรื่องเสรีภาพในการการแสดงออก เลยเลือกมาฝึกงานที่แอมเนสตี้

 

เมื่อได้มาฝึกงานแล้ว ได้ทำประเด็นที่ตัวเองสนใจไหม

ในสิ่งที่ตัวเองสนใจก็ทำอยู่ แต่เมื่อเข้ามาฝึกงานทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วแอมเนสตี้ทำหลายประเด็นมาก ทำให้เราสนใจในประเด็นอื่นๆ มากขึ้นด้วย เช่น ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย เรื่องหลักการไม่ส่งกลับ เป็นประเด็นใหม่ที่เราเพิ่งได้เรียนรู้จากการมาฝึกงานที่นี้ ซึ่งคิดว่าน่าสนใจดี ทำให้ตอนนี้สนใจประเด็นนี้มากกว่า (หัวเราะ)

 

ช่วยเล่าถึงการทำงานของ Amnesty Club ที่ปัตตานีให้ฟังหน่อย

เป็นคลับที่สร้างพื้นที่ให้เราได้ทำกิจกรรมในเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็จะมีเพื่อนร่วมงานเข้ามาช่วย ซึ่งสิ่งที่เราทำก็มีฉายหนัง นิทรรศการภาพถ่าย Write for Rights โดยเฉพาะ Write for Rights ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักที่แอมเนสตี้ประเทศไทยและเเอมเนสตี้ทั่วโลกทำ ทางคลับก็เอาตรงนี้ไปต่อยอด

 

ผลตอบรับของคลับในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนที่เริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆ นักศึกษาในมหาลัยไม่ได้รู้จักแอมเนสตี้ด้วยซ้ำ ในระยะเวลาสองปีที่ทำกิจกรรมกับแอมเนสตี้ สิ่งที่สะท้อนมาให้ได้เห็นคือคนในมหาวิทบาลัยก็รู้จักแอมเนสตี้มากขึ้น ถ้าเห็นป้ายเหลือง ก็รู้แล้วว่าเป็นแอมเนสตี้ ยิ่งไปกว่านั้นคือมีคนรู้จักเรื่องของสิทธิมนุษยชนมากขึ้นด้วย

 

ทำไมถึงสนใจด้านสิทธิมนุษยชน

ที่สนใจด้านสิทธิมนุษยชนก็เพราะตัวเองอยู่ปัตตานี ที่ปัตตานีก็มีการใช้กฏหมายพิเศษมาหลายปี ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยมา ก็ได้เรียนวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา ได้รู้ว่าพื้นที่ที่เราอยู่มีการจำกัดสิทธิ ซึ่งเป็นตัวจุดประกายในชีวิต ทำให้หันมาสนใจสิทธิมนุษยชนมากขึ้นว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง แล้วใช้สิทธิได้มากน้อยแค่ไหน โดยที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น เพราะเราเองก็ไม่อยากเป็นอีกคนที่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ใครมาละเมิดสิทธิของเราเหมือนกัน

  

อะไรที่รู้สึกว่าท้าทายที่สุดเมื่อมาฝึกงานกับแอมเนสตี้

คิดว่าเป็นงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ เพราะว่ามาฝึกงานกับแผนกนโยบาย (Policy) ซึ่งเป็นแผนกที่ต้องอ่านรายงานเยอะมาก แต่ละเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องสนุกนะ (หัวเราะ) บางทีมันก็เศร้า เช่น เรื่องผู้ลี้ภัย มันก็เป็นเนื้อหาที่บางทีเราก็รับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขา ซึ่งมันทำให้ท้าทายกับตัวเราเองว่าต้องอ่านหนังสือนะ ต้องอ่านรายงานเพิ่มนะ เพื่อที่จะได้เข้าใจในสิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องการสื่อสารออกมาหรือในสิ่งที่แอมเนสตี้ทำ

 

office AI-65.jpg

 

สำหรับญิง สิทธิมนุษยชนมีความหมายอย่างไร

คิดว่าสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการหนึ่งในการใช้ชีวิตไปแล้ว ในแง่มุมที่ว่าเป็นแบบแผนในการใช้ชีวิตของเราว่าเราสามารถใช้ชีวิตต่อไปยังไง ได้ให้ประโยชน์หรือให้โทษต่อใครบ้าง สิ่งไหนที่เราคิดว่าดีก็ทำต่อไป ส่วนสิ่งไหนที่คิดว่าไม่ดีก็จะพยายามแก้ไขต่อไปเพื่อที่เราจะได้ไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ประมาณนี้

 

สุดท้าย อยากให้ช่วยเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิทธิมนุษยชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแอมเนสตี้

ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษา ทำอะไรได้ไม่มาก การเข้ามาทำกิจกรรมกับ Amnesty Club ที่ปัตตานีทำให้เราได้เรียนรู้การเข้าหาผู้คนที่เราไม่รู้จัก ได้เรียนรู้การทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองและผู้อื่น การที่ได้มาเป็นนักศึกษาฝึกงานที่แอมเนสตี้ ได้สอนให้เราเรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าของสิทธิมนุษยชน ศึกษาประเด็น และทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ได้มากขึ้น ชัดเจนขึ้น 

 

ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทุกคนที่มีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไรก็ตามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแอมเนสตี้ ไม่ว่าการเข้ามาฝึกงาน การสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก เป็นอาสาสมัคร หรือแค่อยากบริจาคให้แอมเนสตี้ก็สามารถทำได้ เพราะแอมเนสตี้เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาลหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ไม่มีลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือศาสนาใดๆ แอมเนสตี้ได้รับการสนับสนุนจากค่าสมาชิกและการบริจาคจากสาธารณะเท่านั้น