วันสตรีสากล: ชวนรู้จัก 4 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงไทยไฟแรง

 

8 มีนาคม 2561

เรื่อง: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 001.jpg

วิส–หทัยรัตน์ พหลทัพ 
นักข่าวโต๊ะสืบสวนสอบสวน 
สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรุงเทพฯ

อ่านเรื่องราวของเธอ

ทำงานอะไร? เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนยังไงบ้าง?

สนใจเรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเราจะติดตามเป็นพิเศษ ที่เราสนใจเรื่องพวกนี้มากๆ คงเป็นเพราะสนามข่าวแรกๆ ที่ทำคือรัฐสภากับทำเนียบรัฐบาล เราเลยได้เห็นเรื่องราวของผู้ได้รับผลกระทบที่เข้ามาร้องเรียน ส.ส. ส.ว. หรือรัฐบาลตลอดเวลา

 

หลังรัฐประหาร 2557 ยิ่งทำให้สนใจเริ่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะมีคนถูกเรียกปรับทัศคติรายวัน แถมคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลหรือ คสช. มักจะถูกเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด บางครั้งเราก็ไปรายงานข่าวเกี่ยวกับคนเหล่านี้ ทั้งผ่านช่องทางของสถานีและผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง

 

ข่าวที่ตัวเองให้ความสำคัญ คือ ข่าวความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เราอยากลงไปทำข่าวที่นั่นมาก แต่ต้นสังกัดที่ทำงานอยู่ตอนนั้นไม่อนุญาต จึงทำได้แค่รับฟังข้อมูลในห้องกรรมาธิการและติดตามลงพื้นที่กับคณะกรรมาธิการบางครั้งเท่านั้น แต่เมื่อห้าปีที่แล้ว ตอนย้ายมาทำงานกับไทยพีบีเอส ได้มีโอกาสลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น จึงรู้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย ผู้ถูกกล่าวหา โดยบางกรณีญาติสงสัยว่ามีการซ้อมทรมานจนทำให้เสียชีวิต ทำให้เราติดตามทำข่าวเรื่องนี้มากขึ้น เพราะต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาและปรับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

 

แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เห็นใจเจ้าหน้าที่นะ เพราะหลายครั้งเราติดตามการทำงานองเจ้าหน้าที่ก็เห็นความเหนื่อยยากที่เกิดขึ้น เช่น เส้นทางธุรกิจมืดที่มาพร้อมความรุนแรง เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ทำให้เราพยายามสืบค้นว่าปัญหาที่แท้จริงของสามจังหวัดภาคใต้คืออะไร

 

เราคงไม่แตกต่างจากคนทั่วไปที่ต้องการเห็นความสงบสุขในสามจังหวัด เราเองก็ได้แต่ลุ้นว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะมีสันติสุข โดยพยายามทำในบทบาทที่ตัวเองทำได้ ช่วงหลังๆ เราไม่ได้แตะเฉพาะปัญหาแล้ว เราแตะเรื่องความงดงามของพื้นที่เพื่อทำให้คนที่อยู่นอกพื้นที่เข้าใจว่าพื้นที่สามจังหวัดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ยังมีแง่งามอีกมาก เช่น ประเพณี วิถีชีวิต ทะเล ชายหาด เป็นต้น

 

นอกจากนี้ เรายังก็ติดตามรายงานข่าวเกี่ยวกับการอพยพของชาวโรฮิงญาด้วย เราติดตามเรื่องนี้เมื่อห้าปีที่แล้ว ตอนนั้นไปดูเส้นทางการค้ามนุษย์ที่จังหวัดระนอง หลังจากมีข่าวการหลบหนีเข้าเมืองและมีคนตายในรถบรรทุก นับจากวันนั้นเราก็ติดตามมาเรื่อยๆ กระทั่งครั้งล่าสุดที่มีการอพยพจากรัฐยะไข่ในเมียนมาไปบังกลาเทศกว่าแปดแสนคน

 

วันแรกๆ ที่เห็นภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ แล้วเรารู้สึกเลยว่าเหตุการณ์นี้ไม่ธรรมดาแน่ๆ เราจึงอาสากองบรรณาธิการว่าขอไปรายงานข่าวที่บังกลาเทศ และก็พยายามรายงานข่าวในมุมที่จะทำให้ผู้ชมคนไทยเข้าใจโรฮิงญาในฐานะ "เพื่อนมนุษย์" ที่เขาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพราะชาวโรฮิงญาในสายตาคนไทยเขาถูกมองว่า "เป็นคนอื่น" และเป็นเรื่องไกลตัว เช่น พยายามทำรายงานพิเศษว่าต่อไปพวกเขาจะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์โดยใช้เส้นทางประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศอื่นๆ ที่ตอนนี้ขบวนการค้ามนุษย์ในไทยก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่

 

ปีที่แล้วเราเองก็ไม่รู้ตัวว่า ประเด็นส่วนใหญ่ที่ตัวเองเกาะทำไมถึงเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเสียส่วนใหญ่ อาจจะเป็นเพราะความสนใจส่วนตัวและประเด็นที่เกิดขึ้นช่วงนั้นๆ ด้วย

 

ส่วนการเคลื่อนไหวเรื่องการยื่นหนังสือต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการกล่าวหาผู้บริหารองค์กรสื่อคุกคามลูกน้องหญิง อันนี้ทำในนามส่วนตัว เพราะเราคิดว่าถ้าเกิดขึ้นจริงก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้และไม่ควรยอมรับ อีกอย่างเราต้องการเห็นสมาคมนักข่าวฯ สร้างบรรทัดฐานต่อสังคมต่อเรื่องการคุกคามทางเพศ

 

ความจริงเราไม่เคยเรียกร้องเรื่องสิทธิสตรี แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเพศไหนก็ไม่ควรถูกคุกคาม ไม่ควรถูกละเมิด ทั้งวาจาและทางร่างกาย การคุกคามทางเพศไม่ควรเป็นเรื่องที่ปกปิดไว้ใต้พรม เพราะยิ่งปิดก็จะมีเหยื่อเพิ่มมากขึ้น เราไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นรายวัน

 

แต่ก็ต้องผิดหวังกับสมาคมฯ แม้จะมีผลสอบจากคณะกรรมการที่มีความน่าเชื่อถือ แต่สมาคมฯ ก็เลือกที่จะซุกไว้ใต้พรม ไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะ แม้ว่าเราจะพยายามเรียกร้องและไปยื่นหนังสือให้เขาเปิดเผยแล้วก็ตาม เราก็ได้แต่บอกตัวเองกับเพื่อนๆ ว่า "พวกเราพยายามแล้ว"

 

ความเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรคกับการทำงานหรือไม่? อย่างไร?

เราว่าปัญหาและอุปสรรคมันเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ว่าเราไม่ได้ทำข่าวเกี่ยวเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ตาม เราจึงไม่ค่อยตกใจกับปัญหาเท่าไหร่ เมื่อเจอปัญหาก็ค่อยๆ แก้ แต่ทุกครั้งที่เจอปัญหาถ้าเรามีสติ ไม่โวยวายจะแก้ไขปัญหาได้ดีมาก

 

เราว่าบางข่าวหรือบางประเด็นการเป็นผู้หญิงก็มีส่วนดี แต่บางครั้งก็รู้สึกว่าบางข่าวการเป็นผู้หญิงก็น่ารำคาญ ถ้าเลือกเกิดได้บางครั้งก็อยากเกิดเป็นผู้ชาย เพราะบางพื้นที่หัวหน้าจะอ้างเรื่องความปลอดภัยทำให้เราไม่ได้รับอนุญาตให้ไปทำข่าว เช่น ตอนเกิดเหตุปะทะของกลุ่มติดอาวุธกับเจ้าหน้าที่ที่มาราวี ฟิลิปปินส์ ตอนนั้นแอบคิดว่าถ้าเราเป็นนักข่าวผู้ชายหัวหน้าอาจอนุญาตให้เราไป (หัวเราะ)

 

ในฐานะนักข่าวสืบสวนสอบสวนมักจะโดนขู่ มักจะโดนยัดเงินหรืออะไรต่างๆ เสมอ โดยการข่มขู่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตอนไปทำรายงานพิเศษเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เราพบว่าที่ดินที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 600-700 ไร่เป็นของนายทุนที่กว้านซื้อที่ดินชาวบ้านไว้และมีอดีตผู้นำชุมชนคนหนึ่งเป็นนายหน้าซื้อขายที่ดินระหว่างนายทุนกับ กฟผ. เราจึงเข้าไปสอบถาม

 

ตอนนั้นทีมข่าวขับตระเวนรอบๆ พื้นที่และเผลอขับเข้าไปในพื้นที่ของเขา เพราะพื้นที่บริเวณนั้นติดกับที่ดินสาธารณะที่เราคิดว่า ไม่น่าจะมีอะไร แต่ทีมงานก็ตัดสินใจเลี้ยวรถออกจากพื้นที่และมาจอดรถนอกพื้นที่เพื่อถ่ายภาพที่ดินและสถานที่นั้น แต่จังหวะนั้นก็มีรถคันหนึ่งขับรถมาดักด้านหน้า จากนั้นผู้ชายสองคนก็เดินลงมาจากรถพร้อมกับถือปืนเข้ามาหา ตอนนั้นถามว่า ตกใจไหม ตกใจมาก แต่สิ่งที่เราทำได้คือยิ้มและยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวคำว่า “สวัสดี” แล้วก็แนะนำตัวเองว่ามาทำอะไร เป็นใคร จากนั้นสถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น เราจึงขอสัมภาษณ์เขาเพื่อให้เขาอธิบาย

 

จากสถานการณ์ครั้งนั้นเราเลยคิดว่าอาจเป็นเพราะเราเป็นผู้หญิงเขาจึงไม่ทำอะไร แต่ตอนนั้นเราก็รีบออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด แล้วก็โทรบอกหัวหน้าว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ได้เข้าแจ้งความ และต่อมาหลังจากเรื่องนี้ออกอากาศไปแล้ว กลุ่มคนจากฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้าก็โทรมาข่มขู่ เพราะเขาไม่พอใจเนื้อหาที่เรานำเสนอ โดยมีถ้อยคำหนึ่งระบุว่า “อย่าเข้ามาพื้นที่อีกนะ” ครั้งหลังเราก็ไม่ได้แจ้งความอีกเหมือนกัน แต่แจ้งให้หัวหน้ารับทราบทางวาจา หัวหน้าบอกให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ แต่เราไม่ได้ทำ เพราะคิดว่าเราจะลงพื้นที่อีก เราไม่อยากมีปัญหา แต่นี่อาจจะเป็นวิธีที่ผิดก็ได้

 

ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวให้ตรวจสอบผู้บริหารสื่อไม่มีการคุกคาม เพราะเราไม่ได้เอ่ยชื่อ เราระวังเรื่องนี้มาก แม้กระทั่งเขียนบทความหรือข้อความเป็นเฟซบุคหรือจดหมายเปิดผนึกเราก็ไม่เอ่ยชื่อหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเราไม่ได้ทำเรื่องนี้เพราะเจ็บแค้นใครเป็นการส่วนตัว ที่เคลื่อนไหวเพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครในสังคม

002.jpg

เจน – ศรัญญา กาตะโล
ผู้ประสานงานโครงการพลังเด็กและเยาวชนร่วมส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) จ.เชียงใหม่

อ่านเรื่องราวของเธอ

ทำงานอะไร? เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนยังไงบ้าง?

ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะเรื่องสถานะบุคคลและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ลักษณะการทำงานเป็นการลงพื้นที่

 

เรายังส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและการเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของพวกเขาเอง อาทิ เช่น ข้อมูลสถานะบุคคล การใช้แรงงานเด็ก การทุบตีทำร้าย การใช้ยาเสพติด เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ก็ติดตามเฝ้าระวังปัญหาต่างๆ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ในชุมชน การศึกษา และติดตามให้ความช่วยเหลือทั้งเป็นรายกรณีและช่วยเหลือแบบภาพรวม เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ความเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรคกับการทำงานหรือไม่? อย่างไร?

ความเป็นผู้หญิงและเป็นคนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชน เพราะในพื้นที่ที่เราลงไปทำงานมีลักษณะพิเศษทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เพศ ไปจนถึงประเพณีวัฒนธรรม และยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในระดับท้องถิ่นด้วย

 

ชุมชนส่วนใหญ่ที่เราลงไปทำงานอยู่ติดชายแดน แต่ละชุมชนก็อยู่ห่างไกลกัน และยังเป็นพื้นที่สีแดงของการปราบปรามยาเสพติดด้วย ทำให้การเดินทางลำบาก การสื่อสารก็ยาก

 

สิ่งที่ท้าทายอีกอย่างของการทำงานในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับคนกลุ่มชาติพันธุ์ ก็คือต้องพยายามอธิบายให้ชัดเจนถูกต้อง เพื่อป้องกันการตีความที่ผิดเพี้ยน

 

การสร้างความเข้าใจกับเด็ก ผู้ปกครอง และชุมชนก็มีความลำบาก เพราะคนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว จึงไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนัก เกิดความขัดแย้งกันภายในครอบครัวและชุมชนตามมา

 003.jpg

ฝน – อลิสา บินดุส๊ะ
ผู้ประสานงาน
กลุ่มนักกฎหมายอาสา Law Long Beach จ.สงขลา

อ่านเรื่องราวของเธอ

ทำงานอะไร? เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนยังไงบ้าง?

เราเคลื่อนไหวโดยใช้ความรู้ทางกฎหมายในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชน เพื่อยืนยันสิทธิของทุกคนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเริ่มต้นจากเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไปสู่ปัญหาโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐที่ลงมาสู่ชุมชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ปัญหาคือประชาชน ชุมชน ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง ที่ชัดเจนและกำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ตอนนี้ก็คือโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กระบวนการทางกฎหมายที่เรามีอยู่ตอนนี้ไม่ได้เอื้อให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นถูกทำเป็นเพียงพิธีกรรมให้ผ่านๆ ไปแค่นั้น ชาวบ้านเข้าไม่ถึงรู้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ ตลอดจนไม่มีพื้นที่ที่จะให้ชาวบ้านที่เห็นต่างได้แสดงความเห็นคัดค้าน

 

ที่แย่ไปกว่านั้นคือกฎหมายถูกเอามาใช้เพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสียเอง การออกมาเดินแสดงออกของชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกลับถูกรัฐฟ้องร้องปิดปาก หลายคนมีคดีติดตัวและต้องเสียเวลาและเสียเงินขึ้นโรงขึ้นศาลกันไป

 

ตอนนี้ นอกจากการเข้าไปให้ข้อมูลความรู้เรื่องสิทธิในพื้นที่ เราทำได้แค่เป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน และช่วยห้ประเด็นนี้ออกสู่การรับรู้ของเพื่อนนักศึกษาและสาธารณะให้มากที่สุด

 

ความเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรคกับการทำงานหรือไม่? อย่างไร?

ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิง เป็นเยาวชนด้วย แล้วก็นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้เจออุปสรรคบ้างบางครั้ง เช่น เวลาเราพูด ก็อาจจะมีคำถามว่าเป็นผู้หญิงทำไมไม่คลุมฮิญาบประมาณนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังจะสื่อด้วยซ้ำ

 

ปัญหาหลักๆ คือการถูกมองเรื่องความน่าเชื่อถือและความเหมาะสมของเรา ล่าสุดที่เจอเลย คือโดนชี้หน้าถามว่าเป็นใคร เพื่อให้เราดูเหมือนเป็นคนนอกที่เข้ามายุ่งในพื้นที่ พยายามลดความน่าเชื่อถือของเรา

 

เคยอยู่ๆ ระหว่างคุยก็มีผู้ชายเดินเข้ามาผลักเฉยเลย ก็แอบคิดนะว่าถ้าเราเป็นผู้ชาย จะกล้าเข้ามาทำแบบนี้ไหม หรือจะทำหนักกว่านี้ แต่เราไม่ได้โทษความเป็นหญิงของตัวเองหรอก เราว่าปัญหาของกรอบเพศหญิงชายที่สังคมกำหนดมากกว่าที่เป็นอุปสรรค

 

ทุกวันนี้เวลาลงพื้นที่ เราก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น พยายามเตรียมตัวในการปรับตัวเข้าหากลุ่มคนที่เราจะทำงานด้วย และพยายามสร้างความน่าเชื่อถือในด้านอื่นๆ ให้ตัวเองมากขึ้น

 004.jpg

ครูก้อย – กฤติกา โภคากร
กรรมการสมาคมครูเพศวิถีศึกษา (ประเทศไทย)
อดีตนายกสมาคมและประธานผู้ก่อตั้งสมาคมครู
ประธานผู้ก่อตั้งชมรมครูทักษะชีวิตและเพศศึกษา กรุงเทพมหานคร

อ่านเรื่องราวของเธอ

ทำงานอะไร? เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนยังไงบ้าง?

จัดตั้งชุมนุมสิทธิมนุษยชนศึกษาในโรงเรียน เป็นครูแกนนำผู้ประสานงานค่ายเยาวชนและภาคีเกี่ยวกับทักษะชีวิตเพศศึกษาและสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ร่วมจัดทำหลักสูตรเพศวิถีศึกษา สิทธิมนุษยชน อนามัยเจริญพันธุ์วัยรุ่น และจัดกิจกรรมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศกับหลายองค์กร เช่น ยูเนสโก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แอมเนสตี้ เป็นต้น

 

เรามุ่งมั่นที่จะให้โอกาสกับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศในโรงเรียน เปิดโอกาสให้เด็กที่เรียกตัวเองว่าเป็นกะเทย ทอม ดี้ ได้เข้าร่วมกิจกรรมในค่ายเยาวชน รณรงค์ให้เด็กๆ มีโอกาสร่วมวิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงปรับปรุงหลักสูตรสุขศึกษา ซึ่งส่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาโดยตรง

 

พยายามส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้และเข้าใจปัญหาผ่านประสบการณ์ตรงที่ตัวเองหรือเพื่อนเคยประสบพบเจอมา เช่น การถูกรังแก หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผ่านรูปแบบของเรื่องเล่า

 

จุดสูงสุดที่ท้าทายตัวตนของเราคือการได้เรียนรู้แนวคิดสตรีนิยมและสิทธิมนุษยชน เป็นแรงบันดาลใจของการให้ความรู้ ทางเลือก และโอกาสแก่เยาวชน ท่ามกลางความหลากหลายทางเพศและไร้เพศ เพื่อปลูกสู่จิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันจริงๆ

 

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ฝึกสอนและดูแลทีมนักกีฬาฟุตซอลนักเรียนทั้งหญิงและชายของกรุงเทพมหานครกว่าสิบปี พาเข้าแข่งขันจนกระทั่งติดทีมระดับประเทศและทีมชาติ

 

เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศมักถูกกดทับไม่ให้แสดงความเป็นตัวของตัวเองและขาดการยอมรับ ขณะที่การสอนให้เด็กๆ รู้จักสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของพวกเขา รู้เท่าทัน และตัดสินใจเลือกจุดยืนของตนเอง บ่อยครั้งก็มักจะถูกต่อต้านจากครูด้วยกันเองหรือผู้ปกครอง

 

ความเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรคกับการทำงานหรือไม่? อย่างไร?

ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิงและเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่เด็ก มาจนถึงวัยรุ่น วัยทำงาน และมีปัญหากับการตั้งครรภ์ไมพึงประสงค์มาก่อน เราจึงเข้าใจความกดดันและเจ็บปวดของวัยรุ่นที่เผชิญปัญหาคล้ายๆ กัน

 

เราพยายามดูแลความรู้สึกของเด็กๆ ไม่ปล่อยให้เขาต้องเดียวดาย ส่งเสริมความเข้าใจในการตัดสินใจเลือกทางเดินอย่างรอบคอบ ไม่ว่าเขาจะต้องการยุติการตั้งครรภ์หรือตัดสินใจท้องต่อ วิธีการแบบนี้ย่อมไม่ถูกใจและสวนกระแสกับครูบางส่วนที่ยังมีทัศนคติไม่เปิดกว้างมากนัก

 

การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองที่ไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศจริงๆ เป็นอุปสรรคหนึ่ง และบางครั้งสื่อการเรียนรู้ตามหลักสูตรก็กลายเป็นตัวทำลายและสกัดกั้นความอยากรู้อยากเห็นเรื่องสิทธิทางเพศของเด็กเสียเอง

 

การทำงานด้านสิทธิสตรีทำให้เราถูกอดีตสามีกล่าวหาว่าเป็นทอม เขาไม่ยอมรับการรณรงค์ต่างๆ ของเรา สุดท้ายต้องกลายเป็น Single Mom แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดเจตนารมณ์ของเราที่จะมุ่งมั่นทำงานเพื่อความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศในสังคมต่อไป