photo by Arcaion 

เมื่อไรจะเป็นศพสุดท้าย? กรณี #น้องเมย และ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน

28 พฤศจิกายน 2560

เรื่อง: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าคนไทยแทบทุกคนคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหารวัย 18 ปีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาไม่มากก็น้อย

 

ผลการชันสูตรเบื้องต้นจากกรมแพทย์ทหารระบุว่าเขาเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว แต่จากการชันสูตรโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กลับพบว่าอวัยวะภายในของเขาหายไป สร้างความเคลือบแคลงใจให้ครอบครัวและสังคมต่อการอบรมในโรงเรียนเตรียมทหาร และนำไปสู่การอภิปรายอย่างกว้างขวางว่าจะมีมาตรการอะไรที่ทำให้การสืบสวนเป็นไปอย่างโปร่งใส และจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดใจเช่นนี้อีกในอนาคต

 

ไม่ใช่ศพแรก


การเสียชีวิตของน้องเมยไม่ใช่กรณีแรกที่ทำให้สังคมสงสัยว่าเป็นการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 พลทหารวิเชียร เผือกสม ที่เสียชีวิตในค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส สันนิษฐานกันว่าเขาถูกทหารนับสิบทำร้ายสารพัดวิธีนานสามวันก่อนเสียชีวิต ในขณะที่หลานสาวของพลทหารวิเชียรที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมและสืบหาความจริงก็กลับถูกคู่กรณีฟ้องฐานหมิ่นประมาท

 

อีกรายเมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา พลทหารยุทธอินันท์ บุญเนียม เสียชีวิตหลังจากมีรายงานว่าถูกขังคุกทหารและโดนทำร้ายร่างกายอย่างหนักที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี กรณีนี้มีภาพถ่ายอาการบาดเจ็บของเขาก่อนเสียชีวิตด้วย โดยผลชันสูตรพบว่าถูกทำร้ายร่างกายจนไตทำงานผิดปกติจนเสียชีวิต

 

และเมื่อไม่นานมานี้ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้เอง เป็นกรณีของพลทหารอดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ ซึ่งเสียชีวิตหลังเข้ารับการฝึกที่ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร จ.นครศรีธรรมราช ได้เพียง 10 วันเท่านั้น ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตยังเป็นปริศนา เพราะกองทัพอ้างว่าเกิดจากโรคประจำตัว แต่แม่ของพลทหารอดิศักดิ์ระบุว่าเขาไม่มีโรคประจำตัวแต่อย่างใด

 

การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

 

การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงและเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อ เพราะวิธีการต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการที่ปุถุชนคนทั่วไปไม่กระทำต่อกัน ตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย รุมซ้อม ข่มขู่ ทำร้ายจิตใจ บังคับให้แก้ผ้า มัดเชือก ไปจนถึงการทำให้หายใจลำบาก และการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ การทรมานยังเป็นเครื่องทำลายความเป็นมนุษย์ของเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุเองด้วย เพราะลึกๆ แล้วไม่มีมนุษย์ที่มีจิตใจธรรมดาคนไหนทนมีความสุขอยู่ได้เมื่อต้องเห็นคนอื่นทนทุกข์ทรมานและถูกปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมต่อหน้าต่อตา

 

การทรมานยังเป็นการทำลายชื่อเสียงของหน่วยงานหรือสถาบันที่ปล่อยให้มีการกระทำดังกล่าวด้วย เมื่อใดก็ตามที่มีข่าวการเสียชีวิตของเหยื่อ ความเคลือบแคลงสงสัยไปจนถึงอารมณ์โกรธเกรี้ยวของคนในสังคมย่อมตามมา โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการสืบสวน หรือสอบสวนอย่างไม่โปร่งใสและอิสระมากพอ ความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันนั้นๆ ย่อมลดลงไปเรื่อยๆ อย่างช่วยไม่ได้ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาในเร็ววัน

 

ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย

 

แม้ผู้ก่อเหตุทรมานจะสามารถถูกดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกายหรือฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญาได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ เนื่องจากการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มักเป็นการกระทำที่ผู้มีตำแหน่งใหญ่โตหรือมีอิทธิพลมีส่วนรู้เห็น ทำให้บ่อยครั้งผู้กระทำผิดลอยนวลไปอย่างสบายใจ หรือแม้จะสามารถลงโทษผู้ก่อเหตุได้ หลายครั้งก็ไม่สามารถนำตัวผู้สั่งการหรือผู้ใหญ่ที่มีส่วนรู้เห็นมาดำเนินคดีได้อยู่ดี

 

หาก “ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย” ถูกปรับเนื้อหาให้ได้มาตรฐานและผ่านเป็นกฎหมายใช้จริง ปัญหาการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกป้องกัน ปราบปราม และลงโทษอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพราะจะมีบทลงโทษเฉพาะสำหรับผู้ก่อเหตุทรมาน ซึ่งมีโทษสูงกว่าความผิดฐานทำร้ายร่างกาย และจะลงโทษไปถึงผู้มีอำนาจสั่งการทรมานหรือรู้เห็นเป็นใจด้วย นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนมีความเป็นกลางและอิสระมากขึ้น ขณะที่ครอบครัวของเหยื่อการทรมานก็จะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม

 

ประเทศไทยจะเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (UN Convention against Torture) และมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของอนุสัญญาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ตัวแทนรัฐบาลไทยก็ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในเวทีนานาชาติว่าจะผ่านกฎหมายที่ทำให้การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งที่มีบทลงโทษชัดเจน แต่ถึงทุกวันนี้ความคืบหน้ากลับมีเพียงน้อยนิด

 

น่าเสียดายที่ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายถูก สนช. ปฏิเสธไม่รับพิจารณาและส่งกลับมายังกระทรวงยุติธรรมเมื่อช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะสร้างคสามผิดหวังให้กับภาคประชาสังคมที่รอกฎหมายฉบับนี้มานาน แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาให้มีความรัดกุมและสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมากขึ้น


ร่วมปกป้องชีวิตคนไทย ผ่านร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย

 

ตราบใดก็ตามที่การเสียชีวิตในน้ำมือของรัฐยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชน และตราบใดที่เรายังไม่มีกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานโดยเฉพาะ วัฒนธรรมการใช้อำนาจเหนือร่างกายชีวิตของคนอื่นและการลอยนวลพ้นผิดก็จะยังคงอยู่ต่อไป และไม่แม่แน่ว่าเราหรือคนที่เรารักก็อาจตกเป็นเหยื่อเองได้สักวัน

 

สิ่งที่คนธรรมดาอย่างเราๆ สามารถทำในตอนนี้ก็คือช่วยกันจับตามองการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังสามารถกระตุ้นให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเร็วขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างการเขียนจดหมาย โทรศัพท์ หรือส่งอีเมลหา สนช. เพื่อแสดงพลังว่าประชาชนต้องการยุติการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเร่งเด่วน

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากพลังของคนธรรมดาเป็นรูปแบบการรณรงค์หลักของแอมเนสตี้ทั่วโลก และได้ผลจริงมาแล้วมากมายหลายกรณี เพราะเราเชื่อมั่นว่าเมื่อพลังของคนธรรมดาๆ ที่สนใจสิทธิมนุษยชนและต้องการช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นหลายคนมารวมกัน มันจะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นการยากที่รัฐจะเพิกเฉยได้อีกต่อไป