24 งานรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในปี 2557

3 มกราคม 2558

 

1. ถ้าร่วมมือกัน เราสามารถแก้ไขกฎหมายการข่มขืนในโมร็อกโคได้

 1.morocco-1024x682_1_0.jpg

 

รัฐสภาโมร็อกโคลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเรา ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ทำการข่มขืนหลีกเลี่ยงบทลงโทษโดยการบังคับให้ผู้เป็นเหยื่อแต่งงานด้วย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์อย่างหนักเพื่อครอบครัวของอมินา ฟีลาลี (Amina Filali) (ในรูป) ซึ่งฆ่าตัวตายเมื่อเดือนมีนาคม 2555 หลังจากถูกบังคับให้ต้องแต่งงานกับผู้ชายที่เธอกล่าวหาว่าข่มขืนเธอ กฎหมายลักษณะเดียวกันยังคงมีอยู่ในประเทศตูนีเซียและแอลจีเรีย และเราจะยังคงต่อสู้ต่อไปเพื่อให้แก้ไขกฎหมายเหล่านี้โดยผ่านโครงการรณรงค์ My Body My Rights “ร่างกายของฉัน สิทธิของฉัน”

 

2. เราปกป้องสิทธิมนุษยชนก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองโซชี (Sochi)

 2.sochi-1024x682_0.jpg

 

ในช่วงก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองโซชีในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกว่า 336,000 คนจาก 112 ประเทศได้ลุกขึ้นยืนเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย พวกเราได้ร่วมกันเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ยุติการปราบปรามการแสดงความเห็นและการแสดงออกอย่างเสรีในประเทศ

 

3. เรา “ปฏิเสธ” ร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการรักเพศเดียวกันของยูกันดา

 3.uganda_0.jpg

 

ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเข้าร่วมในปฏิบัติการระดับโลก เพื่อประท้วงกฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันของยูกันดา มีผู้ลงนามในจดหมายประท้วงกว่า 86,000 คนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) ใช้สิทธิวีโต้กฎหมายฉบับนี้ ส่งผลให้กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคม นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของนักกิจกรรม เราหวังว่าปฏิบัติการต่อไปจะช่วยให้เกิดสภาพการณ์ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงสำหรับเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และอินเตอร์เซ็กในยูกันดา เพราะที่ผ่านมาพวกเขาตกอยู่ในวงจรที่ชั่วร้ายของการเลือกปฏิบัติ การคุกคาม การปฏิบัติมิชอบและความอยุติธรรม

 

4. พวกเราต่างยืนเคียงข้างซีเรีย (#WithSyria)

 4.syria-1024x682_0.jpg

 

นักกิจกรรมหลายพันคนจากกว่า 40 ประเทศรวมตัวกันในโอกาสครบรอบสามปีของสงครามในซีเรีย พวกเราจุดเทียน ปล่อยลูกโป่งสีแดง (ในรูป) และเรียกร้องให้มีการให้ความช่วยเหลือต่อชาวซีเรียทุกคนที่ทุกข์ยาก ในเดือนเมษายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้นำจดหมายที่มีผู้ลงชื่อกว่า 140,000 คนไปมอบให้กับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้หาทางยุติความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับประชาชนในซีเรียโดยทันที

 

5. เราเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นในศรีลังกา

 5.srilanka-1024x682_0.jpg

 

องค์การสหประชาชาติมีมติให้ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ กรณีอาชญากรรมที่เป็นผลมาจากการกระทำของกองกำลังของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธ ในช่วงท้ายของสงครามในศรีลังกา ทั้งนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์ของผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งการรณรงค์ #TellTheTruth การสอบสวนขององค์การสหประชาชาติจะทำให้เกิดความหวังครั้งใหม่สำหรับผู้รอดชีวิตหลายพันคนจากการทรมาน การลักพาตัว และการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ

 

6. นายฮากามาดะ อิวาโอะ (Hakamada Iwao) ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจำคุก 45 ปี

 6.iwao-1024x768_0.jpg

 

นายฮากามาดะ อิวาโอะ อายุ 78 ปี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในญี่ปุ่น ภายหลังการรณรงค์อย่างเข้มข้นของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและหน่วยงานอื่น ๆ ที่ผ่านมาเขาใช้เวลาค่อนชีวิตเฝ้ารอการประหาร หลังถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าคนตายเมื่อปี 2511 ในเดือนมีนาคม ศาลยกเลิกโทษประหารชีวิตแก่เขา และสั่งให้มีการไต่สวนคดีใหม่ โดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานที่ใช้ดำเนินคดีนายอิวาโอะอาจถูกปลอมแปลงขึ้นมา คดีของเขาเป็นข้อเตือนใจที่ชัดเจนและชี้ให้เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก

 

7. พวกเราต่างพร้อมใจกันพูดว่า “ร่างกายของฉัน สิทธิของฉัน”

 7.mybodymyrights-1024x682_0.jpg

 

ในเดือนเมษายน ประชาชนจำนวนมากถึง 280,000 คนทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลของตนคุ้มครองสิทธิทางเพศและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของคนหนุ่มสาว โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ “ร่างกายของฉัน สิทธิของฉัน” ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มอบลายเซ็นของพวกท่านให้กับนายบันคีมุน (Ban Ki-moon) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในที่ประชุมสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก

 

8. เราให้ใบเหลืองกับบราซิล

 

8.brazil-1024x574_0.png 

 

ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกว่า 100,000 คนให้ใบเหลืองกับรัฐบาลบราซิล ก่อนการจัดฟุตบอลโลกในเดือนกรกฎาคม เพื่อเตือนรัฐบาลว่าการประท้วงไม่ใช่อาชญากรรม ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเดินขบวนครั้งใหญ่ก่อนหน้านี้เพื่อประท้วงค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดแข่งกีฬาคราวนี้ และเป็นเหตุให้ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ มีการใช้ก๊าซน้ำตาและกระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม

 

9. เรายังคงกดดันสาธารณรัฐแอฟริกากลางต่อไป

 9.car-1024x682_0_0.jpeg

 

ประชาชนกว่า 67,000 คนลงนามในจดหมาย เพื่อให้มีการคุ้มครองพลเรือนในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เราต่างยืนหยัดเพื่อสนับสนุนครอบครัวของคอนสแตนต์ เยาโนโม (Constant Yaonomo) (ในภาพถ่ายที่พ่อของเธอถือ) ซึ่งถูกสังหารจากการโจมตีด้วยระเบิด เราได้ส่งมอบลายเซ็นของท่านทุกคนให้กับทางการสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม กระตุ้นให้พวกเขาสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติภาพที่เข้มแข็งขององค์การสหประชาชาติ ตลอดทั้งปี เราให้ความสำคัญกับวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น ทั้งในส่วนของอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

10. เอเลส เบียลีอัสกี (Ales Bialiatski) นักกิจกรรมที่เบลารุสได้รับการปล่อยตัว

 10.ales_0.jpg

 

เอเลส เบียลีอัสกี นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนชาวเบลารุส เขาเป็นเป้าหมายการรณรงค์เขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิของเราในปี 2556 เขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนมิถุนายน หลังจากติดคุกอยู่เกือบสามปี เอเลสบอกว่าการสนับสนุนจากนักกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งผลให้มีการปล่อยตัวเขา “สิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงคือจดหมายที่ผมได้รับจากคนธรรมดาๆ ทั่วโลก และผมอยากขอบคุณพวกท่านทุกคนที่ร่วมรณรงค์สำหรับเรื่องนี้”

 

11. เราเริ่มโครงการรณรงค์ยุติการทรมาน

 11.stoptorture-1024x511_0.jpg

 

ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจากทั่วโลกเดินขบวนในวันต่อต้านการทรมานสากล เมื่อเดือนมิถุนายน เพื่อรำลึกถึงผู้เสียหายที่ถูกทรมาน โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ยุติการทรมานของเรา ซึ่งเริ่มเปิดตัวพร้อมกับการเปิดเผยข้อมูลว่า 44% ของประชาชนทั่วโลกกลัวว่าตนเองจะถูกทรมานถ้าถูกควบคุมตัว ในตอนเปิดตัวโครงการ ประชาชนเกือบ 350,000 คนจาก 117 ประเทศลงนามในจดหมายเรียกร้อง ให้คืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อผู้รอดชีวิตจากการทรมานในเม็กซิโก กรณีของคลอเดีย เมดินา (Claudia Medina)

 

12. เราช่วยเหลือให้ชุมชนพื้นเมืองในปารากวัยได้รับความเป็นธรรม

 12.paraguay-1024x678_0.jpg

 

ในวันที่ 11 มิถุนายน ประธานาธิบดีคาร์เต (Cartes) แห่งปารากวัยลงนามในกฎหมายเพื่อคืนที่ดินดั้งเดิมจำนวนกว่า 14,000 เฮกแตร์ให้กับชุมชนพื้นเมือง Sawhoyamaxa นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับครอบครัว (ในรูป) ซึ่งได้ต่อสู้เพื่อสิทธิตนเองมากว่า 20 ปี

 

13. มีเรียม อิบราฮิม (Meriam Ibrahim) รอดจากการประหารชีวิต

 13.meriam-698x1024_0.jpg

 

มีเรียม อิบราฮิม เป็นคริสเตียนที่ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในซูดาน สุดท้ายเธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนมิถุนายน และเดินทางไปถึงยุโรปในเดือนกรกฎาคม ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนทั่วโลกสนับสนุนข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลให้มีการปล่อยตัวเธอ มีเรียมถูกตั้งข้อหา “ละทิ้งศาสนา” เนื่องจากประกาศว่าเธอเป็นคริสเตียนในขณะที่พ่อของเธอเป็นมุสลิม รวมทั้งข้อหา “ประพฤติผิดทางเพศ” ภายหลังจากการแต่งงานกับชายที่เป็นคริสเตียน ในขณะที่ถูกดำเนินคดี เธอกำลังตั้งครรภ์ได้แปดเดือน และต้องคลอดลูกทั้ง ๆ ที่มีโซตรวนติดอยู่

 

14. เรายืนหยัดเคียงข้างผู้ประท้วงในฮ่องกง

 14.hongkong-2_0.jpg

 

ประชาชนประมาณ 510,000 คนเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ในโอกาสครบรอบ 17 ปีของการส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน มีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคน และมีผู้ประท้วง 25 คนที่เป็นแกนนำในการประท้วงถูกสอบสวน ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจากทั่วโลกต่างกดดันรัฐบาลฮ่องกงให้ยุติการตั้งข้อหากับผู้ประท้วงอย่างสงบ

 

15. ผู้ประท้วงที่จัตุรัสโบลอตนายาในรัสเซียได้รับการปล่อยตัว

15.mikhailkosenko-1024x680_0.jpg 

 

มิคาอิล โกเซนโก (Mikhail Kosenko) ได้รับการปล่อยตัวจากสถานจิตเวชแบบปิด สองปีหลังจากถูกจองจำในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างสงบที่กรุงมอสโคว์ รัสเซีย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์อย่างเข้มข้นของผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แต่เนื่องจากศาลไม่ได้ยกเลิกบทลงโทษต่อมิคาอิล เป็นเหตุให้เขาอาจต้องถูกจองจำอีกครั้งหนึ่งหากมีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่กระทำจริงหรือเป็นข้อหาที่ถูกกุขึ้นมาก็ตาม

 

16. การกลับคำพิพากษาจากเดิมที่ให้ประหารชีวิตหลี่ยาน (Li Yan) ในจีน

16.liyan-1024x679_0.jpg 

ในคำพิพากษาครั้งสำคัญ ศาลสูงสุดของจีนกลับคำพิพากษาจากเดิมที่ให้ประหารชีวิตหลี่ยานในข้อหาฆ่าสามีของเธอที่ชอบใช้ความรุนแรง ภายหลังต้องทนทรมานเป็นเวลาหลายเดือนจากความรุนแรงในครอบครัว คำพิพากษาครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังแรงกดดันอย่างเข้มข้นจากนักรณรงค์ทั่วโลก

 

17. เราเรียกร้องให้ยุติการส่งอาวุธให้กับอิสราเอลและกาซา

 17.gazaiceland-1024x682_0.jpg

ประชาชนในอิสราเอลและเขตยึดครองปาเลสไตน์ (Occupied Palestinian Territories) ต่างประสบความเสียหายอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ความขัดแย้ง 50 วันที่ฉนวนกาซา อาวุธจำนวนมากที่ใช้ก่อความรุนแรงและความเสียหายมาจากผู้ผลิตในต่างประเทศ เป็นเหตุให้เราเรียกร้องต่อองค์การสหประชาชาติให้ประกาศมติห้ามส่งอาวุธให้กับอิสราเอล กลุ่มฮามาส และกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ในกาซาโดยทันที ในปี 2558 เราจะเน้นการรณรงค์ให้ทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น

 

18. เราต่อสู้เพื่อให้ยุติกฎหมายห้ามทำแท้งในเอลซัลวาดอร์

 18.elsalvador-1024x576_0.jpg

ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจากชนบทในเอลซัลวาดอร์เข้าร่วมกับนักรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้ยุติกฎหมายห้ามทำแท้งทุกกรณีของประเทศ กลุ่มเยาวชนในท้องถิ่นจัดแสดงละคร มีการกล่าวปราศรัยอย่างดุเดือด และมีการเล่นดนตรีเพื่อรำลึกถึงผู้หญิง 17 คนที่ถูกคุมขังด้วยสาเหตุเกี่ยวกับการตั้งครรภ์

 

19. แองเจล โคลอน (Ángel Colón) ผู้รอดชีวิตจากการทรมานได้รับการปล่อยตัว

 19.angelcolon-1024x778_0.jpg

แองเจล โคลอน ได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนตุลาคม หลังจากเขาถูกทรมานและถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมเป็นเวลาเกือบหกปีในเม็กซิโก ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลหลายพันคนเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาในระหว่างการรณรงค์ยุติการทรมาน “สิ่งที่ผมต้องการบอกกับผู้ที่ให้กำลังใจผม และผู้ที่ต่อต้านการทรมานและการเลือกปฏิบัติคือ อย่าหยุดปฏิบัติการของคุณ” เขากล่าว “ขอบฟ้าใหม่เริ่มปรากฏขึ้น ผมรู้สึกดีใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

 

20. มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ

 20.malala-1024x682_0.jpg

มาลาลา ยูซาฟไซ นักรณรงค์เพื่อสิทธิด้านการศึกษาและทูตด้านมโนธรรมสำนึกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมกับไกรลาศ สัตยาที (Kailash Satyarthi) นักกิจกรรมเพื่อสิทธิเด็กชาวอินเดีย ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ “ผลงานของไกรลาศ สัตยาทีและมาลาลา ยูซาฟไซสะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อเด็กหลายล้านคนทั่วโลก” ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว “เป็นรางวัลสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งพร้อมจะอุทิศตนเองอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนการศึกษาและสิทธิของเด็กที่เสียเปรียบมากสุดในโลก”

 

21. เราประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดในการควบคุมอาวุธ

 21.att-1024x681_0.jpg

จนถึงกลางเดือนธันวาคม 60 ประเทศให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ (Arms Trade Treaty) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ระดับโลกที่ช่วยชีวิตคน โดยการควบคุมการซื้อขายอาวุธระหว่างประเทศ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ธันวาคม 2557 เป็นผลมาจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องกว่าสองทศวรรษของผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเช่นคุณ

 

22. เราเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อของโรงงานนรกที่โภปาล

 22.bhopal-1024x683_0.jpg

เดือนธันวาคมเป็นโอกาสครบรอบ 30 ปีหลังจากประชาชนเกือบ 10,000 คนเสียชีวิตภายในเวลาสามวัน โดยเป็นผลมาจากการรั่วของก๊าซพิษที่โรงงานยาปราบศัตรูพืชที่เมืองโภปาล อินเดีย ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจากทั่วโลกยืนหยัดเคียงข้างชุมชนในโภปาล เราร่วมเดินขบวนเรียกร้องความยุติธรรมในวันครบรอบเหตุการณ์ เรายังคงเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียทำความสะอาดพื้นที่ และดูแลให้นำตัวบริษัทที่รับผิดชอบมาลงโทษ

 

23. พลังจากปลายปากกาของเราเปลี่ยนชีวิต(ผู้ถูกละเมิดสิทธิ)ได้

23.netherlands-1024x682_0.jpg 

ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั้งหนุ่มสาวและสูงวัยได้เขียนและส่งจดหมายให้กับเหยื่อรายบุคคลและชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบเจอกัน รวมถึงเขียนข้อความ อีเมล โพสข้อความทวีตเตอร์ ฯลฯ เพื่อเรียกร้องและแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปีนี้มีการร่วมรณรงค์ผ่านช่องทางต่างๆ จากทั่วโลกกว่าสองล้านครั้ง ภายใต้กิจกรรมเขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิ ซึ่งเป็นการเขียนจดหมายแบบมาราธอนระดับโลก มีผู้ร่วมรณรงค์จากทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ โดยมีการจัดกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ทั้งการเขียนจดหมายในเนเธอร์แลนด์ (ในรูป) การจัดปาร์ตี้ในชุดนอน 24 ชั่วโมงที่ชิลี กิจกรรมสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งคืนที่บูร์กินาฟาโซ และการสัมภาษณ์สดเอ็ดเวิร์ด สโนวเดน (Edward Snowden) ที่ฝรั่งเศส ปฏิบัติการเหล่านี้ทำให้เกิดแรงกดดันเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

 

24. ก้าวย่างแรกของเราในการรณรงค์ยุติการทรมานในฟิลิปปินส์

 24.philippines_0.jpg

รายงานของเราเมื่อเดือนธันวาคม เผยให้เห็นว่าเกือบทุกคนที่ถูกตำรวจในฟิลิปปินส์จับเสี่ยงจะถูกทรมาน ผู้สนับสนุนได้ให้เงินจัดทำแผ่นป้ายขนาดใหญ่สี่แผ่น เพื่อนำไปติดตั้งในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเน้นให้เห็นว่าทุกคนอาจตกเป็นเหยื่อการทรมาน และผู้กระทำผิดจะไม่ถูกลงโทษ ไม่นานหลังจากนั้น วุฒิสภาฟิลิปปินส์ประกาศจะเริ่มการไต่สวนกรณี “การทรมานอย่างกว้างขวางของตำรวจ” ซึ่งนับเป็นก้าวย่างที่น่ายินดีของการรณรงค์ยุติการทรมาน