กลุ่มโรฮิงญาในไทยเขียนจดหมายถึง "ออง ซาน ซูจี"
เกี่ยวกับการคุกคามชาว "โรฮิงญา"

23 มิถุนายน 2559

 

กลุ่มชาวโรฮิงญาในประเทศไทย (Rohingya Thailand Group) เผยแแพร่จดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึงนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา เกี่ยวกับปัญหาการคุกคามชาวโรฮิงญาในเมียนมา เนื่องในโอกาสที่นางออกง ซาน ซูจีเดินทางเยือนประเทศไทย แม้จะโดนทางการไทยสั่งห้ามจัดแถลงข่าวก่อนหน้านี้ โดยจดหมายดังกล่าวมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ฯพณฯ ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เราเชื่อว่าท่านทราบดีแล้วว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมในรัฐอาระกัน (รัฐยะไข่) ทั้งนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งของโลกและของพม่า โดยที่มีการใช้คำว่า โรฮิงญา (Rooinga) โดย Mohammadin มาเป็นเวลา 217 ปีตั้งแต่ปี ค.ศ.1799 และชื่อดังกล่าว รวมทั้งภาษาและศาสนาของชาวโรฮิงญา ได้รับการวิจัยค้นคว้าโดยนักวิชาการจากอังกฤษและที่อื่น ๆ จำนวนมาก


และเราเชื่อว่าท่านทราบดีว่าชาวโรฮิงญาไม่เคยพยายามแบ่งแยกดินแดนออกจากสหภาพพม่าและไม่มีแผนการเช่นนั้น แม้ในช่วงที่มีการเรียกร้องเอกราชที่ซับซ้อน ชาวโรฮิงญาจำนวนมากก็ไม่ปรารถนาจะไปเป็นส่วนหนึ่งของบังกลาเทศ (อดีตปากีสถานตะวันออก) และเราตัดสินใจจะอยู่ต่อไปในสหภาพพม่า


ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประชาชนหลายกลุ่มของพม่าได้ถูกกดขี่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเป็นเวลาหลายปี โดยกลุ่มที่ถูกคุกคามทำร้ายมากสุดคือชาวโรฮิงญา ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ


แม้ว่าประชาชนบางส่วนของเราต้องหลบหนีออกจากแผ่นดินถิ่นเกิดเนื่องจากถูกคุกคามอย่างร้ายแรง แต่ยังมีผู้ที่ไม่มีเอกสารและดำรงชีวิตอยู่แบบคนไร้รัฐ


จากข้อมูลที่เรามีอยู่ ชาวโรฮิงญาประสบความยากลำบากมากสุดในช่วงรัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่ง โดยเขาได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ไม่มีคำว่า “โรฮิงญา” และประเทศของเราและประชาชนเหล่านี้เป็นเพียงผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ" และเขายังเป็นผู้ลบล้างประวัติศาสตร์ชาวโรฮิงญา (ก่อนหน้าอูเต็งเส่ง ไม่มีผู้นำพม่าคนใดที่ใช้กฎหมายลบล้างชื่อและประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญา ที่ผ่านมาพวกเขายังคงเรียกเราว่าโรฮิงญา ดังที่ปรากฏในตำรามหาวิทยาลัยในวิชาภูมิศาสตร์สำหรับนักศึกษาปีที่หนึ่ง ซึ่งมีการตีพิมพ์จนถึงปี 2555)


เรามีความคาดหวังอย่างมากว่าเมื่อที่ปรึกษาแห่งรัฐเป็นผู้มีอำนาจปกครองรัฐ เราจะได้รับชีวิตและประวัติศาสตร์ของเรากลับคืนมา เพราะเราเชื่อว่าท่านเป็นผู้รักสัจจะความจริง สิทธิมนุษยชน และเสียสละทุ่มเทให้กับประชาธิปไตยมาเป็นเวลาหลายปี และท่านเป็นบุคคลที่กล้าหาญอย่างยิ่ง


แต่จากข่าวล่าสุดที่เราได้รับ เรารู้สึกเสียใจและทนไม่ได้เนื่องจากที่ปรึกษาแห่งรัฐได้ใช้ชื่อเสียงและอิทธิพลร้องขอให้องค์การสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศ เลิกใช้คำว่า “โรฮิงญา” (ในลักษณะเดียวกับอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง)
เราจึงร้องขอให้ท่านยอมรับสิทธิและยอมรับประชาชนของเรา ว่าเป็นเหมือนประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ในพม่าและให้สิทธิที่เท่าเทียมกับเราเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่น ๆ

Hajee Ismail
เลขาธิการกลุ่มชาวโรฮิงญาในประเทศไทย (Rohingyas Thailand Group)

 

ชมวิดีโอการแถลงข่าว