Credit - Warner Bros

หนัง The Good Lie และความเป็นมนุษย์ของเพื่อนผู้ลี้ภัย

20 กันยายน 2560

เรื่อง - Pim Singhatiraj

ศิลปะคืออะไร? แล้วเป้าหมายของศิลปะคืออะไร? คงไม่มีใครให้คำตอบตายตัวได้ แต่สำหรับฉัน ศิลปะมีไว้เพื่อสื่อสาร ศิลปะมีหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างผู้รับสารกับแนวคิดที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ไปยังพวกเขา หนึ่งในศิลปะแขนงหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ “หนัง” 

 

หนังให้ประสบการณ์ที่ใกล้ชิดและมุมมองใหม่ๆ แก่คนดูซึ่งอาจหาไม่ได้จากที่ไหน ด้วยเหตุผลนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้จัดฉายหนังเรื่อง The Good Lie และเปิดเวทีพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นผู้ลี้ภัยที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ร่วมกับอไซลัมแอสเซสประเทศไทย (Asylum Access Thailand) เพื่อสื่อสารกับอาสาสมัครและนักศึกษากว่า 700 คนให้หันมาสนใจและพูดคุยเรื่องผู้ลี้ภัยกันมากขึ้น


The Good Lie เป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้าชาวซูดานสี่คนที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย หลังจากหมู่บ้านของพวกเขาถูกเผาและพ่อแม่ของพวกเขาถูกฆาตกรรม พวกเขาจำเป็นต้องเดินหลายร้อยไมล์เพื่อเอาชีวิตรอดในค่ายผู้ลี้ภัยที่เคนย่า ชีวิตการเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายผ่านไป 13 ปี ทั้งสี่คนถูกส่งไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ที่พวกเขาต้องเจออุปสรรคมากมาย ตั้งแต่การปรับตัวกบสภาพแวดล้อมใหม่ไปจนถึงการหางาน พวกเขารู้สึกสับสนกับวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอเมริกัน จนตัวละครที่ชื่อพอลพูดขึ้นมาตอนหนึ่งว่า “ตอนนี้เราอยู่ในอเมริกา และในอเมริกาเราไม่มีค่าอะไรเลย”

 

ฉากที่ฉันจดจำได้ดีคือฉากที่เจเรไมห์เล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับไก่เดินข้ามถนนให้พี่น้องของเขาฟัง ทำเอาทุกคนพากันหัวเราะยกใหญ่ หลังจากนั้นไม่นาน อยู่ดีๆ พอลก็หัวเราะขึ้นมาเพราะนึกถึงเรื่องเล่าเรื่องนั้น จากนั้นทุกคนก็พากันหัวเราะอีกครั้ง ฉากนี้เป็นฉากที่น่าประทับใจมาก เพราะแม้ว่าหลายคนจะเคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่ามาแล้ว แต่สำหรับตัวละครหลักในเรื่อง พวกเขาเติบโตมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างและไม่เคยได้ยินมันมาก่อน


ฉันคิดว่าฉากเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้มีความสำคัญมาก มันทำให้เรานึกถึงความทรงจำที่หัวเราะได้ทันที คุณอาจนึกถึงคืนอันสนุกสนานกับเพื่อนสนิทที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเพราะและร้อยยิ้ม อะไรง่ายๆ เหล่านี้นี่เองช่วยให้เรามองพวกเขาเปลี่ยนไป จากผู้ลี้ภัยกลายเป็นคนธรรมดาๆ ที่เราสามารถเป็นเพื่อนด้วยได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของแอมเนสตี้ ซึ่งก็คือการทำให้ผู้คนเปิดใจต่อผู้ลี้ภัยมากขึ้น

 
อีกประเด็นที่ฉันชอบในหนังเรื่องนี้คือแง่มุมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นแง่มุมที่คนทั่วไปสามารถรับรู้และเข้าถึงได้ ช่วงต้นของหนัง มาเมียร์กรีดร้องด้วยความเจ็บปวดเมื่อพบว่าพ่อแม่ของเขาถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมโดยกองกำลังทหาร ฉากนี้ทำให้ฉันร้องไห้เพราะต้องจินตนาการว่าถ้าสูญเสียพ่อแม่ของตัวเองไปในสงครามจะรู้สึกอย่างไร

 

นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาต่างรักพี่น้องของตัวเอง เช่น ตอนที่ธีโอเสียสละตัวเองเพื่อรักษาชีวิตของมาเมียร์ เมื่อพอล มาเมียร์ และเจเรไมห์เดินทางมาถึงแคนซัสซิตี้ พวกเขาก็ยังต่อสู้เพื่อให้อบิทัล น้องสาวของพวกเขา ได้มาอยู่ด้วยกัน และในตอนสุดท้าย มาเมียร์เดินทางกลับไปยังเคนยาและพบกับธีโอ เขาเสียสละพาสปอร์ตของเขาให้ธีโอเพื่อให้ธีโอได้เดินทางไปสหรัฐฯ แทนเขา 

 

ความรักความผูกพันธุ์ระหว่างพี่น้องชาวซูดานใน The Good Lie แข็งแรงอย่างมากและกระทบถึงอารมณ์ของคนดูได้เป็นอย่างดี และช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจเพื่อนผู้ลี้ภัยได้มากขึ้น


แม้ว่าการฉายหนังจะเป็นไฮไลท์ของงานนี้ แต่ก็มีส่วนอื่นของงานที่น่าสนใจเช่นกัน หลังจากหนังจบ ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และอไซลัมแอสเซส ได้เล่าเรื่องแบ่งปันเรื่องราวที่พวกเขาทำเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและตอบคำถามต่างๆ และนอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้ร่วมกันถ่ายรูปกับข้อความ #IAmWithRefugees เพื่อแสดงพลังและเผยแพร่แนวคิดบนโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ด้วย


ฉันเป็นนักกิจกรรมเยาวชนคนหนึ่ง ฉันคงไม่สามารถโน้มน้าวให้ปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ และคงไม่สามารถช่วยให้เพื่อนผู้ลี้ภัยของฉันได้เดินทางไปยังประเทศที่สามได้ในเร็วๆ นี้ แต่สิ่งที่ฉันสามารถทำได้ตอนนี้คือการเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขา ฉันสามารถแสดงพลังสนับสนุนพวกเขาได้ และในท้ายที่สุด ถ้าฉันได้เรียนรู้อะไรสักอย่างจากธีโอ มาเมียร์ เจเรไมห์ อบิทัล และพอล มันคงเป็นสำนวนแอฟริกันที่ว่า “ถ้าคุณต้องการเดินได้เร็ว จงเดินคนเดียว แต่ถ้าคุณอยากเดินได้ไกล จงเดินด้วยกัน”


ฉันว่ากิจกรรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จในการเปิดประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในกลุ่มคนที่อาจไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้มากนัก ฉันหวังว่าเหล่านักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมากขึ้น และลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามกำลังที่แต่ละคนจะมี ไม่ว่าจะเป็นการเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรที่ทำงานเพื่อสิทธิผู้ลี้ภัย ช่วยกระจายข่าวและสร้างความตระหนักรู้ ไปจนถึงต่อสู้กับความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่มักเกิดขึ้นในบทสนทนาประจำวัน

ผู้ลี้ภัยไม่ใช่แค่ประเด็นที่เอาไว้ถกเถียงในชั้นเรียนเท่านั้น แต่ผู้ลี้ภัยคือคนจริงๆ มีชีวิตจิตใจและความรักเช่นเดียวกับเรา ทุกครั้งที่เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับความทุกข์ยากที่เพื่อนผู้ลี้ภัยต้องประสบ ความเป็นมนุษย์ของเราก็กำลังถูกทดสอบไปด้วย เรามองข้ามข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียหรือชาวโรฮิงญาไปหรือเปล่า? เราเปิดใจที่จะรับฟังปัญหาและเรียนรู้ว่าพวกเขาต้องผ่านอะไรมาหรือไม่? จิตใจเรามีมนุษยธรรมที่อยากจะช่วยเหลือพวกเขามั้ย?