สิทธิในการประกันตัว: โปรดยืนตรงบนหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

8 กุมภาพันธ์ 2566

Amnesty International Thailand

ผู้หญิงสองคนอดอาหารและน้ำ เพื่อทำให้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกนำมาปฏิบัติ 

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ อรวรรณ ภู่พงษ์ ขอถอนประกันเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ และประกาศอดข้าวอดน้ำ เรียกร้อง 3 ข้อ 1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2. ยุติการดำเนินความกับประชาชน 3. พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบาย เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยยกเลิกมาตรา 112 และ 116 

การอดอาหารและน้ำของตะวันและแบม สร้างข้อถกเถียงให้สังคมไทยตั้งแต่จริยธรรมทางการแพทย์ การเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปจนถึงการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยให้คำนึงถึงหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักการสากลและถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผู้หญิงสองคนนำชีวิตเข้าแลกกับสิทธิของผู้ต้องหาคดีการเมือง แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าข้อแลกเปลี่ยนของทั้งสองครอบคลุมเราทุกคนที่ล้วนแต่มีโอกาสเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

การเกิดและตายของหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

“มาตรา 29 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญไทยระบุว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนว่ากระทำความผิดไม่ได้ ข้อความนี้ไม่เคยเปลี่ยนเลยตั้งแต่ปี 2492 แต่มันก็ไม่เคยได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังเช่นกัน”       

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เริ่มต้นสร้างแผนที่เพื่อระบุตำแหน่งแห่งที่การมีอยู่ของหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือ Presumption of Innocence ซึ่งถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 แม้รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกครั้งแล้วครั้งเล่า แต่หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ถูกบรรจุลงไปในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับ แต่เหตุผลที่หลักการนี้ไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติ ก็เพราะการมีด้านตรงข้ามของ Presumption of Innocence ดำรงอยู่ เหมือนเป็นด้านมืดของดวงจันทร์ นั่นก็คือ Presumption of Guilt หรือ การสันนิษฐานว่าผิด ซึ่งเป็นโครงสร้างของหลักปฏิบัติที่ปรากฎในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา

 

 

เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ทำไมจึงปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ไม่ได้ล่ะ วรรค 3 ของมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า การจับกุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี พูดง่ายๆ รัฐธรรมนูญบอกว่า การเอาคนมาขังก่อนจะมีคำพิพากษามีเพียงเหตุเดียวคือการที่เขาจะหลบหนี แต่ในทางปฏิบัติ เหตุผลในการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเต็มไปหมด” 

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านนี้ ระบุถึงเหตุผลที่กระบวนการยุติธรรมใช้อ้างในการไม่ให้ประกันตัวซึ่งปรากฎในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญามาตรา 108/1 ระบุุถึงสาเหตุ 5 ประการ ดังนี้ 1 .ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี 2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน 3.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4.หลักประกันหรือนายประกันของผู้ต้องหาไม่น่าเชื่อถือ 5.การปล่อยชั่วคราวจะไปทำให้กระบวนการพิจารณาคดีได้รับความเสียหาย 

"จะเห็นว่ามีเหตุผลงอกขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญ 4 ข้อ รัฐธรรมนูญมีเหตุผลเพียงข้อเดียวคือกลัวผู้ต้องหาจะหลบหนี แม้กระนั้นเมื่อไปถึงศาล ศาลก็มีเหตุอื่นงอกขึ้นมาอีก เหตุผลที่ศาลมักอ้างบ่อยๆ ถึงการไม่ให้ประกันตัวในคดีการเมือง คือเป็นคดีที่มีอัตราโทษร้ายแรง ผมถามว่ามันอยู่ในข้อไหนของมาตรา 108/1 ของประมวลวิธีพิจารณาคดีอาญา อย่าว่าแต่ในรัฐธรรมนูญเลย กระทั่งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาก็ไม่มีปรากฎเลยสักข้อ หากลองคิดด้วยตรรกะนะครับ ถ้าผมเป็นตำรวจ แล้วไม่ต้องการให้จำเลยได้รับการประกันตัว ผมก็ต้องตั้งข้อหาให้สูงเข้าไว้ เพื่อศาลจะไม่ให้ประกันตัว

ทีนี้หลักการที่ว่าศาลเป็นอิสระตามมาตรา 188 มันก็ไม่เป็นจริงสิครับ เพราะเมื่อตำรวจตั้งข้อหา ศาลก็รับไปหมดเลย เขาตั้งข้อหาสูงๆ ไว้ ศาลก็เชื่อ ก็รับเอาฐานของเขามาเป็นเหตุให้ไม่ปล่อยตัวชั่วคราว เรามีปัญหาที่ตัวกฎหมายและในทางปฏิบัติครับ แม้รัฐธรรมนูญจะวางหลักไว้ดีแล้ว แต่กฎหมายไม่สอดคล้อง ผมก็ไปดูว่าทำไมไม่ทำกฎหมายให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญ ก็เจอความจริงที่เฉลยเรื่องราวการเกิดและดับของ Presumption of Innocence ”

สิ่งที่ ผศ.ดร.ปริญญา ค้นพบคือเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เป็นเรื่องเดียวกับการที่เด็กสาวสองคนอดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แก่ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ซึ่งความจริงแล้วข้อเรียกร้องของพวกเธอครอบคลุมไปถึงเราทุกคนที่มีสิทธิเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ทุกเมื่อ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของเราประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2477 ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่วางหลักการเรื่องสันนิษฐานไว้ว่าบริสุทธิ์คือฉบับปี 2492 ซึ่งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา

เราเริ่มต้นโดยใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด (presumption of guilt) เราจึงใช้คำว่าปล่อยตัวชั่วคราวแทนที่จะใช้คำว่าขังชั่วคราวหลักปฏิบัติของเราจึงเป็นการจับแล้วเอาไปขังเลย จนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์แล้วจึงปล่อย ระหว่างนั้นถ้ามีหลักประกันน่าเชื่อถือจึงปล่อยชั่วคราว กระบวนการยุติธรรมของเราวางอยู่บนโครงสร้างแบบนี้ บนพื้นฐานหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” 

ก่อนที่เวลาจะเดินไปข้างหน้า ผศ.ดร.ปริญญา พาเราย้อนกลับไปที่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 เพื่อฉายให้เห็นความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาให้สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญที่วางหลักการ Presumption of Innocence แต่ทำไมจึงไม่มีการเปลี่ยน ทำไมไม่มีการแก้ไข ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 มีอายุเพียง 2 ปีเท่านั้น พอถึงปี 2494 จอมพล ป.พิบูลสงครามก็ฉีกรัฐธรรมนูญทำรัฐประหาร” 

หลักการ Presumption of Innocence ตายจากไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2492 ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 แต่ยังไม่ทันได้แก้ไขปรับโครงสร้างหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จอมพลถนอม กิตติขจรก็ยึดอำนาจในปี 2514 

จอมพลถนอมก็ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญพร้อมกับหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์” 

Presumption of Innocence เกิดและดับตามเหตุปัจจัยทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ แม้ว่าหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จะปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับ แต่ไม่มีการแก้ไขที่โครงสร้างของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับหลักการที่วางในรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลต่อหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ  

“ตามหลักการ Presumption of Innocence การปล่อยตัวต้องเป็นเรื่องหลักครับ การขังเป็นเรื่องชั่วคราว และเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องแสดงหลักฐานให้ดูว่าผู้ต้องหาจะหนียังไงถ้าไม่ขังชั่วคราว ในทางปฏิบัติมันกลับกัน ฝ่ายคนถูกจับต้องไปขอให้ปล่อยชั่วคราว แล้วยังมีหน้าที่แสดงหลักฐานว่ามีหลักประกันมีนายประกัน ในทางปฏิบัติเราใช้เงินเป็นหลักในการประกันตัว สุดท้ายคนจนต่อให้ไม่ผิดก็ติดคุก คนรวยต่อให้ผิดถ้ามีหลักประกันก็รอด มันเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างถึงที่สุดแล้วครับเรื่องนี้ ทั้งหมดนี้มันเกิดจากการที่เราไม่ใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์อย่างจริงจัง 

“ผมคิดว่าหลักการนี้จะคุ้มครองเราทุกคน ทุกคนมีสิทธิถูกกล่าวหาได้หมด ดังนั้นเราต้องการหลักนี้ ถ้ามีการกล่าวหา ศาลจะคุ้มครองเรา ศาลจะให้เป็นหน้าที่ของตำรวจและอัยการในการพิสูจน์ว่าเราผิด ไม่ใช่หน้าที่ของเราครับในการพิสูจน์ว่าเราบริสุทธิ์ หลักการนี้มันคุ้มครองเราจากการถูกกล่าวหา จากการใช้กฎหมายมารังแกกันในทางการเมือง ประเทศไทยจะอารยะได้ต้องมีหลักนี้ ไม่ให้มีการใช้กฎหมายและอำนาจรัฐมากลั่นแกล้งรังแกทางกฎหมาย ศาลต้องเป็นอิสระ การที่ศาลเป็นอิสระก็คือหลักการเดียวกับสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

 

กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระคือที่พึ่งของประชาชน

“ถ้าถามว่าศาลมีอิสระมั้ย เราอยากจะยกตัวอย่างการเขียนคำสั่งศาลในการพิจารณาการให้หรือไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองบางคดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาล” 

ในฐานะทนายความและหัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ พูนสุข พูนสุขเจริญพบข้อสังเกตการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ควรมีความเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

 

 

เราพบว่าแนวทางการเขียนคำสั่งของศาล ศาลจะอ้างมติที่ประชุมผู้บริหารศาล ซึ่งโดยปกติแล้ว คนที่จะให้หรือไม่ให้ประกันเป็นผู้พิพากษาคนเดียวก็สามารถลงชื่อหรือทำคำสั่งได้แล้ว แต่ปรากฎว่าถ้าเป็นคดีทางการเมือง ศาลจะจำกัดคนที่มีอำนาจในการพิจารณาการให้หรือไม่ให้ประกันไว้กับผู้บริหารศาล การระบุตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัว เราคิดว่ามันแสดงถึงการขาดอิสระของศาล นี่คือหลักฐานที่แสดงความไม่เป็นกลางของศาลซึ่งปรากฎในคำสั่งศาล นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีทางการเมือง ซึ่งไม่เกิดในคดีทั่วไป

ความเป็นอิสระของศาลย่อมตั้งสถิตย์อยู่บนหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นี่คือหลักประกันสิทธิของประชาชน ทุกคนเสมอกันใต้กฎหมาย และได้รับความคุ้มครองใต้กฎหมายโดยเท่าเทียม ศาลต้องเป็นอิสระจึงจะเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้

ถ้าเรามองกระบวนการยุติธรรมผ่านคดีทางการเมือง เราจะพบว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นระยางค์หนึ่งที่สอดรับกับกระแสทางการเมือง แล้วจะบอกว่ากระบวนการยุติธรรมดำรงตนอยู่อย่างอิสระและน่าเชื่อถือ เราสามารถพูดแบบนั้นได้หรือเปล่า ถามว่าทำอย่างไรกระบวนการยุติธรรมจะกลับมาเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ ศาลต้องยืนยันตัวเองผ่านการทำงาน เราคิดว่าเขาก็พยายามปรับตัวนะ เราคิดว่าศาลต้องตัดสินบนบรรทัดฐานที่คุ้มครองสิทธิประชาชน พูนสุข กล่าว

ทนายความและและหัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ฉายภาพให้เราเห็นแนวโน้มการไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองระดับแกนนำ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ

ในห้วง 2-3 ปีที่่ผ่านมา มีพัฒนาการในการให้และไม่ให้ประกันตัว สำหรับคดี 112 ก่อนหน้าปี 2563 ส่วนใหญ่แล้วผู้ต้องหาจะไม่ได้รับการประกันตัว แต่ในปี 2563-2564 ผู้ต้องหาคดี 112 ได้รับการประกันตัว แต่เราพบว่ามีการเลือกเป้าหมายที่จะไม่ให้ประกัน โดยเฉพาะแกนนำที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง แม้พวกเขาจะได้รับการประกันก็จะถูกเพิกถอนประกัน หากออกจากเรือนจำมาแล้ว ยังไปแสดงออกทางการเมืองหรือไปชุมนุมอีก ก็จะถูกถอนประกันและกลับเข้าไปในเรือนจำอีก เข้าออกเรือนจำ 4-5 รอบ” 

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว การสร้างเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาคดีการเมืองติดกำไล EM กำหนดเวลาเข้าออกเคหสถาน และการห้ามออกนอกราชอาณาจักร เงื่อนไขเหล่านี้ถูกนำมาใช้พ่วงร่วมกับหลักทรัพย์ในการประกันตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาคดีการเมือง

คนที่เคยติดกำไล EM มีทั้งหมด 83 คน ตอนนี้มีคนที่ติดกำไล EM ที่ข้อเท้า 56 คน มีผู้ต้องขังคดีการเมืองที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 10 คน มี 6 คนที่คดีถึงที่สุดแล้ว พูนสุข กล่าว ซึ่งเป็นข้อมูลที่เธอรายงานเมื่อเดือนธันวาคม 2565

“คุณบอกว่ามีผู้ต้องขังที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 10 คน” เมื่อ ถามถึงการถูกจองจำของผู้ที่ควรได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์

“ใช่ค่ะ” เธอตอบ “ผู้ต้องหาที่เวียนเข้าเวียนออกเรือนจำส่วนใหญ่ คดีของพวกเขาและเธออยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ที่ซ้ำร้ายคือบางคนยังไม่ได้มีการฟ้องเป็นคดีด้วยซ้ำ อันนี้เป็นปัญหา ถ้ากลับไปสู่หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ เขาต้องถูกปฏิบัติเสมือนผู้บริสุทธิ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณนำเขาไปขังประหนึ่งอาชญากร ซึ่งลิดรอนสิทธิ สร้างอุปสรรคต่อชีวิต กรณีที่มีการยกฟ้องภายหลัง รัฐไม่มีอะไรชดเชยให้เขานะค่ะ เป็นภาระของประชาชนในการลบมลทินให้ตัวเองอีกต่างหาก แม้ว่าเราจะมี พ.ร.บ ค่าตอบแทนผู้เสียหาย แต่เงินไม่สามารถชดใช้สิ่งที่เกิดขึ้นได้หรอก”

เธอยกตัวอย่างกรณีของ ทวี เที่ยงวิเศษ หรือ อาทิตย์ ทะลุฟ้า ผู้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลาร้อยกว่าวัน ก่อนจะได้ประกันตัวออกมา แต่สุดท้ายศาลยกฟ้อง  

คุณเอาเวลาในชีวิตร้อยกว่าวันที่เขาถูกกักขังทั้งๆ ที่ไม่มีความผิดกลับคืนมาได้หรือเปล่า พูนสุข ถาม ไม่ต้องการคำตอบ

นักกิจกรรมหลายคนที่อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ตะวัน เก็ท บุ้ง ใบปอ เพนกวิน รุ้ง หรือใครมากมายที่เขาไม่มีอาวุธอะไรในการต่อสู้ เขาเลือกใช้การอดอาหารซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดในชีวิต สุดท้ายถึงแม้จะได้ประกันตัวออกมา แต่ร่างกายพวกเขาก็จะไม่เหมือนเดิม บุ้งกับใบปอไม่สามารถกินอาหารรสจัดได้เหมือนเดิม กระเพาะอาหารของทั้งคู่ไม่เหมือนเดิม

นอกจากนี้ การลิดรอนสิทธิประกันตัวยังสร้างข้อจำกัดในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา พูนสุขยกตัวอย่างของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเมื่อฟังจากน้ำเสียงของทนายความหญิงท่านนี้ เรารับรู้ เธอสะเทือนใจ

เราอยากพูดถึงกรณีหนึ่ง ตอนนั้นเป็นปี 2564 กรณีคุณสมยศ ตอนนั้นเรากำลังคุยกันเรื่องสิทธิการประกันตัว พี่สมยศแถลงว่า ระหว่างที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เขาไม่มีแม้แต่ที่เก็บเอกสารที่เป็นคำฟ้อง ไม่มีแม้กระทั่งที่สำหรับให้นั่งอ่านทำความเข้าใจอย่างสงบ 

ในฐานะนักกฎหมายเรามองว่า ทุกคนควรได้รับสิทธิที่จะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่การที่คุณเอาคนไปขังในเรือนจำโดยไม่ให้สิทธิประกันตัว เป็นการตัดโอกาสต่อสู้คดี แม้กระทั่งโอกาสในการนั่งอ่านเอกสารเงียบๆ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เขาถูกกล่าวหา ก็ไม่สามารถทำได้ หรือการจะช่วยทนายหาหลักฐานเพื่อมาสู้คดี เขาไม่สามารถทำได้ หลายคดีเราต้องใช้ภาพข่าวและคลิปเป็นพยานหลักฐาน แต่ทนายไม่สามารถนำเอาอุปกรณ์ไปให้เขาดูเพื่อปรึกษาหารือกันในทางคดีได้ในเรือนจำ นี่คือปัญหา แล้วจะบอกว่า คนที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวก็มีโอกาสในการสู้คดีอย่างเต็มที่ มันเป็นคำกล่าวที่ไม่เป็นความจริง สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นจริง” 

การสร้างเงื่อนไขผูกพ่วงกับการประกันตัวยังสร้างปัญหาที่พูนสุขมองว่า เป็นปัญหาใหญ่ให้กระบวนการยุติธรรม นั่นคือความน่าเชื่อถือที่ถูกทำลาย

สิ่งเหล่านี้ทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม เราจะเห็นปรากฎการณ์ที่ศาลถูกวิจารณ์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าย้อนกลับไปดูเราจะเห็นศาลถูกปาสี มีการชุมนุมหน้าศาล เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดในเมืองไทย เราไม่เคยเห็นสถาบันตุลาการถูกท้าทายและเป็นภาระหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องพิสูจน์ว่ายังมีความน่าเชื่อถืออยู่พูนสุข กล่าว

 

ความแออัดในเรือนจำ ความอึดอัดนอกกรงขัง

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุลอัพเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ให้แอมเนสตี้ฯรับรู้สถานการณ์ความแออัดในเรือนจำ “เรามีผู้ต้องขังทั้งหมด 261,000 กว่าคน ในจำนวนนี้รวมผู้ต้องขังทั้งผู้ต้องขังเด็ดขาดซึ่งมี 80 เปอร์เซ็นต์ และผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ จากสัดส่วนนี้ถ้าคิดเป็นตัวเลข เรามีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีทั้งหมด 49,522 คน หมายความว่าเขาติดคุกทั้งที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าผิดหรือถูก”

 

 

จากตัวเลขดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยลงนามใน The Nelson Mandela Rules  หรือหลักการดูแลผู้ต้องขังระหว่างประเทศ รวมถึง กฎแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการไม่ควบคุมตัวผู้กระทำความผิดสตรี หรือ the Bangkok Rules แต่สัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังในเรือนจำ คือผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี

ประเทศไทยมีปัญหาหรือสถานการณ์อย่างไรในเรื่องนี้ เนื่องจากเรามีจำนวนผู้ต้องขังล้นเกินพื้นที่ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 20 กว่าปีแล้วที่ผู้ต้องขังล้นคุก ประเด็นคือเราไม่มีพื้นที่แยกระหว่างผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาด ตามหลักการสากลเกี่ยวกับการดูแลผู้ต้องขัง คุณต้องให้ความดูแลที่แตกต่างกัน เนื่องจากผู้ต้องขังเด็ดขาดมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดียังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่เราจับเขาไปรวมกัน กินอยู่เหมือนกัน ทำให้ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีเหมือนถูกลงโทษไปแล้วแม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด

คำถามสำคัญที่ รศ.ดร.กฤตยา ชี้ชวนให้พิจารณาคือต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม นั่นคือสิทธิในการประกันตัว

ทำไมเราให้สิทธิในการประกันตัวน้อยมาก ทั้งในระดับอุธรณ์ ชั้นไต่ส่วน ชั้นสอบสวน เป็นเพราะอะไร นี่คือคำถามใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะถ้าเราให้การประกันตัวตามสิทธิที่เขาควรได้รับ ความแออัดในเรือนจำจะลดลงทันที เพราะในเรือนจำมีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาไม่น้อยเลยทีเดียว

รศ.ดร.กฤตยา ชวนเราสำรวจเข้าไปในสัดส่วนของผู้ต้องขังอีก 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็มีปัญหาในเชิงหลักการซ่อนอยู่ในโทษทัณฑ์ที่ถูกจองจำ

เราต้องตั้งคำถามกับระบบยุติธรรมของเราทั้งระบบ เพราะจำนวนผู้ต้องขังของเรา 2 ใน 3 คือผู้ต้องขังที่มีฐานความผิดจาก พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เนื่องจากมีแนวคิดการทำงานเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่แตกต่างกันมากระหว่างประเทศในยุโรปกับในสหรัฐ  ในสหรัฐจับขังเป็นหลัก แต่ในยุโรปไม่ทำเช่นนั้น เขาพิจารณาเฉพาะรายใหญ่เท่านั้นเอง แต่เราเดินตามแนวทางอเมริกา จนทำให้ผู้ต้องขังเราล้นเกิน

ไม่ว่าคุณจะบอกว่าคุณไม่เกี่ยวข้องยังไงก็ตาม วิธีการพิจารณาความเกี่ยวกับยาเสพติดไม่สนใจ  ถ้าคุณซวยอยู่ตรงนั้น คุณหลุดยาก นอกจากคุณจะยอมรับสารภาพ เพราะในระบบยุติธรรม ยิ่งสู้ยิ่งติดคุกนาน กรณียู่ยี่เป็นตัวอย่าง ถ้าคุณรับสารภาพ ไม่นานคุณจะได้รับการลดโทษ แต่ถ้าคุณสู้ คุณจะสู้ในฐานะผู้ต้องขังระหว่างการพิจาณาคดี คุณก็สู้ไปจนครบ 3 ศาล กว่าจะรู้ว่าสุดท้ายคุณจะได้รับโทษกี่ปี คุณต้องติดคุกระหว่างการพิจารณาคดีไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นคดียาเสพติดก็ถูกลงโทษสูงอยู่ดี ตามยี่ต็อก ฉะนั้นเราต้องรื้อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นี่ยังไม่ได้พูดในชั้นการสืบสวนของตำรวจ และการสั่งฟ้องของอัยการ

ในระหว่างที่ รศ.ดร.กฤตยา ทำวิจัยเรื่องแรงงานข้ามชาติ เธอได้พบกับโฉมหน้าของกระบวนการยุติธรรมที่จำเป็นต้องได้รับการศัลยกรรมให้เกิดความเป็นธรรมเหมือนามที่ถูกเรียกขาน

แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งถูกลักพาตัวเข้ามา แต่เขาถูกกล่าวหาลักลอบเข้าเมือง ซึ่งเขามั่นใจว่าไม่ได้เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ถูกลักพาตัวมา เขาก็สู้คดี ผู้พิพากษาบอกว่าอย่าสู้ ให้รับผิดเสีย เพราะเข้าเมืองผิดกฎหมาย คุณติดคุกไม่นาน แต่ถ้าคุณสู้ คุณต้องสู้คดีนานหลายปี กว่าคำพิพากษาจะสิ้นสุด แต่ถ้าคุณรับสารภาพ คุณติดคุกไม่เกิน 1 ปีก็จะได้ออกแล้ว นี่ืผู้พิพากษาฝากล่ามให้ไปบอกเจ้าตัวนะ 

นี่คือข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้ไปเจอมากับงานวิจัยของตัวเอง ดังนั้นในหลายๆ คดี การรับสารภาพไปเลยก็เป็นหนทางที่สั้นที่สุด ไม่ใช่ไม่ติดคุกนะ ติดคุกแต่ติดน้อยกว่าการที่คุณเลือกสู้ เราจะทำยังไงให้คนที่มั่นใจว่าเขาไม่ผิด สามารถต่อสู้คดีได้อย่างมีอิสระ ขณะเดียวกันก็ต้องให้เขาประกันตัวเพื่อสู้คดีได้ด้วย เพราะการต่อสู้คดีที่เจ้าตัวอยู่ในเรือนจำ เป็นการต่อสู้ที่ยากลำบาก ทั้งการจะรวบรวมหลักฐานพยานต่างๆ มันควรให้เขาออกมาสู้ข้างนอก รศ.ดร.กฤตยา บอก