เปิดไทม์ไลน์ บิลลี่เกี่ยวอะไรกับ #Saveบางกลอย

19 สิงหาคม 2565

Amnesty International

Brief: 

  • บิลลี่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและเป็นหลานชายของ “ปู่คออี้” โดยเรียกร้องในสิทธิชุมชน ซึ่งในหลายกรณีเป็นความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นที่อยู่อาศัยและการไล่รื้อที่อยู่ของชาวบ้าน และเขาเป็นหนึ่งแกนนำในการเตรียมฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ กรณีการเข้ารื้อทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่ใจแผ่นดิน เมื่อปี 2554 

  • ใจแผ่นดิน คือพื้นที่บริเวณบางกลอยบน เป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ และเป็นบ้านเกิดของปู่คออี้ 

  • บิลลี่หายตัวไปในปี 2557 ที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัวในข้อหามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง

  • บันทึกฉบับสุดท้ายของ “บิลลี่” เขียนด้วยลายมือเพื่อเตรียมยื่นถวายฎีกา เรียกร้องสิทธิและการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับผืนป่าแก่งกระจาน

 

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ได้มีเอกสารจากสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งถึงดีเอสไอ ยืนยันว่าอัยการสูงสุด ได้ลงนามความเห็นสั่งฟ้อง “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร" และพวกรวม 4 คน ต่อ “#บิลลี่” โดยหนึ่งในสี่ข้อหาคือร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเอกสารดังกล่าวลงวันที่ 10 สิงหาคม 2565 หลังจากที่ “บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวปกาเกอะญอหายตัวไปอย่างลึกลับเป็นเวลา 8 ปี ที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัวในข้อหามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง ก่อนจะมีการพบชิ้นส่วนหลักฐานที่ DNA ตรงกับแม่ของเขาในปี 2562

คดีของบิลลี่ได้กลายมาเป็นคดีพิเศษในปี 2561 แต่นี่คือครั้งแรกที่คดีของเขากำลังเดินทางเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล  

ปี 2564 แฮชแท็ก #Saveบางกลอย ได้ขึ้นมาอยู่บนเทรนด์ดิ้งหรือการสนทนาในโลกทวิตเตอร์ หลังจากชาวบางกลอยถูกจับกุมจาก “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” จากความพยายามในการเดินเท้ากลับสู่ใจแผ่นดิน แต่รู้หรือไม่ ย้อนกลับไปในปี 2554 ชาวบางกลอยเคยเผชิญหน้ากับ “ยุทธการตะนาวศรี” นำมาสู่การเผายุ้งฉาง บ้าน เสื้อผ้าจากบรรพบุรุษ รวมถึงเครื่องใช้โบราณ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความพยายามในการอพยพชาวบางกลอยที่บ้านเกิดอยู่ที่บางกลอยบน ให้ลงมาอยู่ที่บางกลอยล่างในปี 2539 หลังจากประกาศให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2524 ปีเดียวกันกับที่สัมปทานป่าไม้ในบริเวณแก่งกระจานโดยบริษัทเอกชนผ่านนโยบายสัมปทานป่าไม้ของรัฐบาลสิ้นสุดลง 

ยุทธการตะนาวศรีคือปฐมบทของการต่อสู้ของบิลลี่  และวันนี้ ชื่อของ #บิลลี่พอละจี ได้กลับมาอยู่บนโลกโซเชียลมีเดียอีกครั้ง  วันนี้เราจึงจะพาคุณย้อนส่องไทม์ไลน์ชีวิตของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวปกาเกอะญอ ที่มีความตั้งใจในการเรียกร้องสิทธิของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และมุ่งหน้าทำงานเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพี่น้องชาว “บางกลอย” ของเขา จนวันสุดท้ายของชีวิต

 

 

บิลลี่คือใคร? 

บิลลี่คือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและเป็นหลานชายของ “ปู่คออี้” เขาเรียกร้องในสิทธิชุมชน ซึ่งในหลายกรณีเป็นความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นที่อยู่อาศัยและการไล่รื้อที่อยู่ของชาวบ้าน และเป็นหนึ่งแกนนำในการเตรียมฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ กรณีการเข้ารื้อทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่ใจแผ่นดิน เมื่อปี 2554   

สำนักข่าวรายงานว่า บันทึกฉบับสุดท้ายของ “บิลลี่” เขียนด้วยลายมือเพื่อเตรียมยื่นถวายฎีกา เรียกร้องสิทธิและการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับผืนป่าแก่งกระจาน  

 

 

บางกลอยคืออะไร? 

ชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาว “ปกาเกอะญอ”  ที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า  อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  เดิมอยู่ที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยมีหลักฐานจากบัตรประชาชนของปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณระบุว่าเขาเกิดในปี 2454 และเคยปรากฎในภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารบกในปี 2455 ซึ่งเป็นเวลากว่า…

  • กว่า 2 ปี ก่อนประกาศพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 ที่มาตรา 3 ระบุว่า ให้ทุกคนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยมีสัญชาติไทย

  • กว่า 30 ปี ก่อนประกาศพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484

  • กว่า 50 ปี ก่อนประกาศพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ  ที่หมวดที่ 3 มาตรา 16 ระบุว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า’ 

  • กว่า 70 ปี ก่อนที่ป่าแก่งกระจานจะเป็นอุทยานแห่งชาติ 

เฉกเช่นกับชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอมีความยึดโยงและผูกพันกับธรรมชาติ พื้นที่ “ใจแผ่นดิน” คือหนึ่งในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ สะท้อนคำเรียกของชาวปกาเกอะญอที่บางคนจะเรียกว่า “กะจื้อหล่อกอคุ” หรือ “แก๊ะก่อซะ” แก๊ะ คือคำว่า เป็น ก่อ คือ จักรวาล ซะ แปลว่า หัวใจ รวมกันเป็นความหมายว่า “หัวใจจักรวาล”

วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ เช่นเดียวกับชาวบางกลอย มีความสอดคล้องกับพิธีกรรมที่อยู่คู่กับชีวิตของพวกเขาตั้งแต่เกิด - แก่ - เจ็บ - ตาย และพื้นที่ “ใจแผ่นดิน” คือพื้นที่ที่มีพิธีกรรมดังกล่าวเช่นเดียวกัน สะท้อนผ่านการทำพิธี “เดปอทู่” หรือการทำ “ต้นสะดือ” ที่เมื่อเด็กแรกเกิดเกิดขึ้นมา สายสะดือของพวกเขาจะถูกบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ ผูกไว้กับต้นไม้ประจำตัวให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ตราบเท่าที่เขายังมีชีวิต ต้นไม้เหล่านั้นจะไม่มีวันถูกโค่นไป ต้นไม้กลายเป็น “ป่าเดปอ” หรือ “ป่าสะดือ” และ “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่ไม่ใช่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่เป็นการทำการเกษตรที่ใช้เมล็ดพันธุ์นานาชนิดที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ 

พชร คำชำนาญ ตัวแทนภาคี #Saveบางกลอยกล่าวว่า ไร่หมุนเวียนคือการทำไร่ในระบบหมุนเวียน นั่นคือมีการกำหนดพื้นที่ชัดเจน มีขอบเขต การใช้น้ำเพื่อทำระบบการเกษตรเป็นการใช้น้ำฝน ไม่ต้องทำระบบประปา ใช้เพียงแค่น้ำฝนตามฤดูกาล และไม่ต้องใช้น้ำขังแบบระบบนา สอดคล้องกับระบบธรรมชาติ 

“นั่นคือพี่น้องไม่ต้องลงทุนระบบน้ำ เพราะไร่หมุนเวียนอาศัยความชุ่มชื้นในดิน และระบบนิเวศโดยรอบที่สอดคล้องกับระบบการเกษตรในไร่หมุนเวียน ส่วนสารเคมีไม่ต้องใช้เลย เพราะใช้วิธีการเผาเพื่อคืนปุ๋ยจากต้นไม้คืนสู่ดิน เพื่อคืนแร่ธาตุที่ต้นไม้ดูดซับไปคืนสู่ดิน” 

นอกจากนี้ เกรียงไกร ชีช่วง ยังได้กล่าวไว้ในทวิตเตอร์สเปซ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจปกาเกอะญอ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 ว่า “ไร่หมุนเวียนมันเป็นรอบผลิตทั้งปี ที่มันยึดโยงจารีตวิถีวัฒนธรรม มันอธิบายผ่านการผลิตข้าว การปลูก ข้าวไร่ ก่อนปลูก ระหว่างปลูกจะมีการคุยกันในชุมชนว่า จุดไร่ จุดยังไง ต้องจุดช่วงไหน ความร้อนถึงจะไม่ลุกลาม กันไฟยังไง โดยบริบทสังคมไม่สามารถมีเงินไปซื้อไปเหมาไปจ้างระบบผลิตแบบกระแสหลักที่เป็นเครื่องจักรปุ๋ยเคมีเข้ามา และมีการใช้หลากหลายเมล็ดพันธุ์ที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่สอดคล้องกับพื้นที่ลงไปในไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นพืชระยะสั้น ระยะกลางร่วมกับข้าว กว่าจะเก็บเกี่ยวได้ จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ก็จะมีความเชื่อจะมีการเลี้ยงผูกข้อมือแล้วก็เอาข้าวกับเมล็ดพันธุ์ไปแบ่งปัน” 

 

 

ทำไมเราถึงต้องพูดถึงเดปอทู่และไร่หมุนเวียน? 

เพราะสองพิธีกรรมนี้ “ไม่มีอีกแล้ว ในพื้นที่บางกลอยล่าง” 

หลังจากสิ้นสุดสัมปทานป่าไม้ในบริเวณแก่งกระจาน โดยบริษัทเอกชนผ่านนโยบายสัมปทานป่าไม้ของรัฐบาล ทางการได้ประกาศให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2524  ชาวบางกลอยต้องย้ายมาที่บางกลอยล่าง หรือโป่งลึก-บางกลอย นับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ชาวบางกลอยเล่าว่าในเวลานั้น ภาครัฐได้ให้คำมั่นว่าถ้าทำกินไม่ได้ สามารถกลับไปที่อยู่เดิมได้ 

 "บางกลอยล่าง" เป็นพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ในปี 2539 ถ้าเดินตามฝีเท้าของชาวกะเหรี่ยงไปอีก 1 วัน จะไปถึง จุดที่เรียกว่า "บางกลอยบน" และหากเดินตามฝีเท้า ของชาวกะเหรี่ยงจากบางกลอยล่างผ่านบางกลอยบน ไปถึง "ใจแผ่นดิน"  จะใช้เวลาเดินทาง 3 วัน 

การจัดสรรที่ดินทำกิน 7 ไร่ 3 งานนั้นไม่เพียงพอต่อการทำไร่หมุนเวียน รวมถึงลักษณะภูมินิเวศที่บริเวณบางกลอยล่างไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ ทำให้ชาวบางกลอยไม่สามารถสานต่อพิธีกรรมของบรรพบุรุษที่นำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหารได้อีกต่อไป อีกทั้งในพื้นที่ยังไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่จะสามารถทำพิธี “เดปอทู่” ได้อีก 

พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาที่ดินทำกินซึ่งไม่สามารถเพาะปลูกได้ นำมาสู่ความพยายามกลับสู่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน 

2551 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

2553-2554 ปฐมบทที่เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ, ปู่คออี้ โคอิ มิมิ และอาจารย์ป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม จึงได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อภาครัฐได้เปิดฉาก “ยุทธการตะนาวศรี” 

ยุทธการตะนาวศรี เป็นโครงการอพยพและผลักดันชาวกะเหรี่ยง พบว่ามีการเผาบ้านและยุ้งฉางข้าว ยึดเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ในการทำไร่ข้าว  โดยระหว่างวันที่ 25 – 28 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารฯ และ ราษฎรชุมชนบ้านโป่งลึก – บางกลอย นำกำลังเข้าเจรจาและผลักดันให้ผู้กระทำผิดดังกล่าวออกนอกพื้นที่   

จากยุทธการตะนาวศรี ชาวบางกลอยต้องเจอกับการถูกเผาบ้านและยุ้งฉางกว่า 20 ครัวเรือน สิ่งที่สูญสลายไปพร้อมกับกองไฟ ยังรวมถึงเสื้อผ้าจากบรรพบุรุษ และเครื่องใช้โบราณอีกด้วย 

กรกฎาคม 2554 ปู่คออี้รวมกับชาวบ้านบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน จ.เพชรบุรี รวม 6 คน จึงได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คดีนำกำลังเข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัว 

30 กรกฎาคม 2554 นายทัศน์กมล ได้ออกมาเคลื่อนไหวในการช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่ถูกผลักดันลงมา ก่อนจะเสียชีวิตลงในปีเดียวกัน 

บิลลี่และปู่คออี้มุ่งหน้าทวงถามความยุติธรรมให้กับชาวบางกลอย ครั้งหนึ่งปู่คออี้เองเคยพูดในชั้นศาลว่า “ฉันลืมตามา ป่าก็อยู่ตรงนั้น น้ำนมหยดแรกที่ฉันดื่ม ก็อยู่ตรงนั้น” 

ปี 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคนละประมาณ 50,000 บาท และระบุเพิ่มเติมว่าการกระทำของเจ้าหน้ากรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ 

 

 

บิลลี่เกี่ยวอะไรกับ #Saveบางกลอย?

ในช่วงเวลาที่ชาวบางกลอยกำลังมุ่งหน้าทวงความยุติธรรม บิลลี่ซึ่งเป็นหลานของปู่คออี้ ได้มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิให้กับชาวบางกลอย เขาเป็นคนช่วยพาปู่คออี้ มีมิ ไปฟ้องศาลปกครองกลางในวันที่ 4 พ.ค. 2555  

บิลลี่อ่านภาษาไทยได้ เขาจึงเป็นคนกลางในการสื่อสารกับทนายความ และช่วยเหลือ ทางด้านคดีกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเดือดร้อน และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความ และเข้าไปเก็บข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่ที่เพื่อนำไปใช้ในชั้นศาล 

มึนอ พิณนภา อดีตภรรยาของบิลลี่ได้กล่าวไว้ในวงคุย Writers that Matter ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ถึงเหตุการณ์ก่อนบิลลี่จะหายไปว่า "มีหัวหน้าอุทยานได้ถามหาว่าบิลลี่คือคนไหน อยู่ที่ไหน ตอนก่อนที่จะหายตัวไปพี่บิลลี่ทำงานช่วยปู่คออี้ เขาเล่าให้เพื่อนฟังว่า ถ้าวันไหนที่เขาหายตัวไประหว่างทาง ขอให้รู้ว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว" นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ในช่วงที่บิลลี่หายไป พี่น้องชาวบางกลอยตกอยู่ในความกลัว บางคนไม่กล้าแม้กระทั่งเอ่ยชื่อคนที่จับตัวบิลลี่ไปในวันนั้น “เขาบอกว่าเขากลัวเขากลัวว่าจะหายเหมือนบิลลี่”  

เช้าวันที่ 17 เมษายน 2557บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย และหายตัวไปนับตั้งแต่วันนั้น 

วันนั้น บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ถูกจับกุมที่บริเวณด่านตรวจเขามะเร็วโดย เจ้าหน้าที่อุทยานฯ อ้างว่าควบคุมตัวไป ฐานพกพาน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง 

แปดปีหลังจากนั้น การหายตัวไปของบิลลี่จึงได้ถูกสั่งฟ้องในคดีอาญา 

 

 

คดีของบิลลี่มีเส้นทางอย่างไรบ้าง?

แปดปี คือระยะเวลาที่บิลลี่หายไป

และแปดปี คือระยะเวลาที่ครอบครัว ชาวบางกลอย รวมถึงองค์กรต่างๆ ได้มุ่งหน้าทวงถามความยุติธรรมให้กับเขาเช่นกัน 

 

17 เมษายน 2557 บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ  หายตัวไป

เขาหายตัวไปที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัวในข้อหามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง

 

18 เมษายน 2557 

06.00 น. คนในครอบครัวยืนยันว่า บิลลี่ยังไม่ได้กลับบ้าน

08.00 น. ชาวบ้านออกค้นหา

20.00 น. ผู้ใหญ่บ้านบางกลอยเข้าแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน 

 

21 เมษายน 2557 

พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ พร้อมผู้แทนชาวกระเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตะนาวศรี เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดและ ผบภ.จว.เพชรบุรี ซึ่งชัยวัฒน์ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากักขังหน่วงเหนียวบิลลี่ ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวบิลลี่จริง แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว โดยมีเด็กหญิงคนหนึ่งในชุมชนถูกอ้างว่าเห็นบิลลี่ภายหลังปล่อยตัว

 

24 เมษายน 2557 

ภรรยาของบิลลี่ พร้อมทนายยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ตาม ป.วิอาญามาตรา 90 โดยถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจาน และหวังว่าศาลจะช่วยให้ทราบได้ว่าบิลลี่อยู่ที่ใด และหากยังคุมตัวไว้โดยที่ไม่มีอำนาจควบคุม ก็ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกมา

 

2 กันยายน 2557 

ศาลฏีกายกคำร้องในคดีอดีตหัวหน้าหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานที่ถูกกล่าวหา ตาม ป.วิอาญามาตรา 90 ควบคุมตัวบิลลี่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าหลักฐานไม่เพียงพอ

 

2561 

กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ (DSI) รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่ไปเป็น “คดีพิเศษ” และเริ่มสอบสวนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2561 

 

3 กันยายน 2562 

พบกระดูกบิลลี่ อธิบดี DSI ยืนยันว่านี่คือการฆาตรกรรม แต่ยังไม่ทราบวิธีทำให้เสียชีวิต 

ดีเอสไอ ยืนยันว่า พบกระดูกมนุษย์ใกล้ถังน้ำมัน โดยกระดูกส่วนที่เป็นกระโหลกนั้นมีรอยไหม้และรอยแตกร้าว เจ้าหน้าที่ยืนยันด้วยว่า กระดูกนี้เป็นของบิลลี่จริงเพราะได้ตรวจสอบสารพันธุกรรม หรือ DNA จากกระดูก (คาดว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกหู)  แล้วตรงกับมารดาของบิลลี่ 

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่สามารถรู้ชัดได้ว่าเขาตายเพราะสาเหตุอะไร

เจ้าหน้าที่กล่าวในงานแถลงข่าวว่า “นายพอละจี รักจงเจริญ ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี” 

ด้านอธิบดี DSI พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง ย้ำว่า นี่คือคดีฆาตกรรม แต่กระดูกที่พบยังไม่ใช่หลักฐานที่เพียงพอในการชี้ตัวคนร้ายได้ จึงขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนเพิ่มเติม

 

11 พฤศจิกายน 2562 

อนุมัติหมายจับชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน คดีฆาตกรรมบิลลี่ใน 6 ข้อหา วันต่อมาชัยวัฒน์และพร้อมพวกรวม 4 คน เดินทางไปมอบตัวและยืนยันพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

 

13 มกราคม 2563 

ชัยวัฒน์ ได้เดินทางยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ร้องขอความเป็นธรรมอัยการในการสั่งคดี 

 

24 มกราคม 2563 อัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องชัยวัฒน์ กับพวกรวม 4 คน ข้อหาฆ่าบิลลี่ 

โดยสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาเป็นเจ้าหน้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

27 มกราคม 2563

มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ อดีตภรรยาของบิลลี่ได้เข้ามาร่วมรับฟังการชี้แจงของสำนักงานอัยการสูงสุด และได้ยื่นหนังสือต่อนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (รองโฆษกอสส.) เพื่อขอให้ชี้แจงเหตุผลที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องชัยวัฒน์เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะข้องใจว่าเหตุใดอัยการเร่งรัดสั่งไม่ฟ้องแทนที่จะสั่งให้ดีเอสไอไปสอบสวนเพิ่มเติม และได้คำตอบว่า “เพราะคดีอาญาสามารถฟ้องได้ครั้งเดียว ถ้าอัยการฟ้องไป หลักกฎหมายใช้ระบบกล่าวหา อัยการต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นให้ได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกฆ่านายบิลลี่ ถ้าเรานำสืบไม่ได้ เพียงแต่สงสัยนิดเดียว ประโยชน์แห่งความสงสัย ศาลจะยกให้นายชัยวัฒน์กับพวก โอกาสจะยกฟ้องมีสูง ดังนั้นถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องกระบวนการของศาลยังไม่เริ่มต้น ภายในอายุความ 20 ปี หากมีพยานหลักฐานใหม่อัยการสามารถหยิบมาฟ้องใหม่ได้”  

 

15 สิงหาคม 2565 

มีเอกสารจากสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งถึงดีเอสไอ ยืนยันว่าอัยการสูงสุด ได้ลงนามความเห็นสั่งฟ้อง “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร" และพวกรวม 4 คน ต่อ “#บิลลี่” โดยหนึ่งในสี่ข้อหาคือร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเอกสารดังกล่าวลงวันที่ 10 สิงหาคม 2565  

ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสั่งฟ้องคดีอาญา ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการหายไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ หลังผ่านมา 8 ปี  

พิณนภาได้กล่าวไว้ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ว่า สิ่งที่ทำให้ครอบครัวยังทวงถามความยุติธรรมให้กับบิลลี่ นั่นเป็นเพราะ “ความหวัง” 

“หวังว่าสักวันหนึ่งมันต้องเป็นของเรา สิ่งนี้ทำให้เรามีแรงเรียกร้องสิทธิต่อไปได้” 

พิณนภากล่าวเสริมว่า เธออยากให้คนเมืองเข้าใจวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ 

“อยากให้ช่วยสื่อสารให้คนในสังคมได้รู้จักวิถีชีวิตของชาติพันธ์ุมากๆ ถ้าหลายๆ คนเข้าใจวิถีชีวิตพวกเรา พวกเราก็จะจะไม่ถูกพูดเหยียดหยามหรือพูดให้เราเสียใจ และอยากให้ทุกคนรู้จักวิถีชีวิตของคนที่ทำไร่ทำสวนในป่าไว้ให้มากขึ้น

“ล่าสุดนี้มีคดีที่ป้าวันเสาร์ ถูกที่ศาลพิพากษาจำคุก ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ดินทำกินนี้เหมือนกัน ในความเข้าใจหนูคือ เขาทำกิจตั้งแต่สมัยพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ไม่ควรที่จะโดนคดีเลยแต่นี่เขาโดนคดี

“ในความรู้สึกหนูคิดว่าคนเมืองหรือว่าเจ้าหน้าที่ ที่ไปดำเนินคดีกับป้าเขาไม่เข้าใจวิถีชีวิตของป้าแล้วก็ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนชาติพันธุ์ที่อยู่บนเขาบนดอย  

“เมื่อไม่เข้าใจ เขาก็จะมองในด้านลบอย่างเดียวว่าพวกเราทุกคนตัดไม้ทำลายป่า ทำในสิ่งที่ไม่ดี.. เหมือนกับว่าเขาไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนชาติพันธุ์เลยเขาก็เลยมองด้านลบ เขาก็จ้องแต่ว่าพวกเขาทำอะไรผิดพวกเขาก็จะดำเนินการเอาผิดอย่างเดียวเลย

“ถ้ามีการรณรงค์ให้หลายคนหรือว่าสังคมนี้ได้รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามทั่วประเทศ ให้รู้จักและเข้าใจวิถีชีวิตของทุกคนก็น่าจะดี” 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://thecitizen.plus/node/40599 

https://news.thaipbs.or.th/content/318447 

วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง บูรพา ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (https://so01.tci-thaijo.org/index.php/pegbuu/article/download/245454/166438/867747

https://thematter.co/social/mob-save-bangkoii/137657 

https://prachatai.com/journal/2012/09/42583

https://www.amnesty.or.th/latest/blog/750/ 

 https://www.amnesty.or.th/latest/blog/1000/