“เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราจึงต้องสื่อสารออกไปให้ดีที่สุด” : วีริสา ลีวัฒนกิจ กับบทบาทนักศึกษาฝึกงานในองค์กรสิทธิมนุษยชน 

18 กรกฎาคม 2565

Amnesty International

ผลงานโดย  สิทธิศักดิ์ บุญมั่น

นักศึกษาฝึกงานแอมเนสตี้ ประเทศไทย

สิทธิมนุษยชนในเมื่อก่อนอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวของผู้คน สังคมจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าที่ควร แต่ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจมากขึ้น ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป คนเหล่านี้จึงมองว่าหากยังคงเพิกเฉย ในอีกไม่ช้าตนคงต้องเป็นผู้ที่ประสบกับการถูกละเมิดสิทธิเอง

ความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นจึงเปรียบดั่งอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ในระบบการศึกษาเริ่มมีการกล่าวถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และมีการเพิ่มเนื้อหาความรู้เข้าไปในวิชาเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัยหลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น วีริสา ลีวัฒนกิจ หรือ กี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกวารสารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน จึงเลือกมาเป็นนักศึกษาฝึกประสบการณ์กับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อเรียนรู้ และเพิ่มพูนประสบการการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของตนเอง

 

ทำไมถึงสนใจสิทธิมนุษยชน?

รู้สึกเริ่มสนใจจากการที่เราไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งตอนนั้นเรารู้สึกสงสัยว่าทำไมเด็กนักเรียนกับครูสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมได้เหมือนเป็นเพื่อนกันเลย หรือเรื่องการเมืองเองที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เรารู้สึกว่าถ้าเทียบระหว่างสังคมไทยกับเยอรมันค่อนข้างที่จะมีความแตกต่างกัน คนเยอรมันจะคุยเรื่องการเมืองกับเราอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ได้ตกตะกอนอะไรหลายๆ อย่าง 

พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็ทำให้ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่ได้เห็นตอนอยู่โรงเรียน เช่น เราเห็นอาจารย์ที่เป็นนักกิจกรรม LGBTQ หรือมีรุ่นพี่ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และพูดคุยกันถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศได้อย่างเต็มที่ และก็เราได้ลงเรียนในวิชาเรียนรวมของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน จึงทำให้เราเริ่มสนใจประเด็นนี้จริงๆ และสนใจมากๆ

 

ความสำคัญของสิทธิมนุษยชน?

รู้สึกว่าสังคมมันมาถึงจุดนี้ได้เพราะสิทธิมนุษยชนที่ทำให้เราไม่ได้อยู่ในสังคม Barbarian หรือสังคมแห่งความป่าเถื่อน ที่เอะอะก็จับผู้กระทำไปประหาร การที่เรามีสิทธิที่จะกิน จะนอน หรือเป็นอยู่อย่างสบายในทุกวันนี้ก็เพราะสิทธิมนุษยชน ต่อให้ฟังดูเหมือนกับเป็นเพียงแค่อุดมคติก็ตาม แต่ก็เพราะอุดมคติและตัวแบบแนวคิดชุดนี้ จึงทำให้เกิดกฎหมาย เกิดข้อตกลงต่างๆ และเกิดการปฏิบัติอะไรบางอย่างในสังคมที่ทำให้เราสามารถแบบอยู่ได้อย่างมีสิทธิเสรี และมีศักดิ์ศรีของความเป็นคน

 

สิทธิมนุษยชนเรื่องใดบ้างที่เราสนใจอยู่ในขณะนี้?

ด้วยความที่เราเป็นเด็กวารสารศาสตร์ จึงทำให้สนใจเรื่องสิทธิการแสดงออก อย่างเมื่อปีที่แล้วที่สิทธิในการแสดงออกของประเทศไทยอยู่ต่ำกว่าประเทศเมียนมาก่อนรัฐประหาร ทำให้เรามองว่า ทำไมสื่อต้องเปิดบังเนื้อหาที่ตนเองนำเสนอ อย่างเช่นเรื่องการชุมนุม อาจเพราะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้สื่ออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ จึงต้องมีการปิดบังเนื้อหาที่นำเสนอออกไป ซึ่งเรารู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา นอกจากสิทธิการแสดงออกก็มีเรื่องแบบเฟมินิสต์ สิทธิทางเพศ และสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่รู้สึกสนใจอยู่ในขณะนี้

 

รู้จักแอมเนสตี้ได้อย่างไร?

รู้จักองค์กรนี้อยู่แล้ว เพราะว่าในช่วงที่ทำรายงานเกี่ยวกับการต่อต้านโทษประหาร จึงให้รู้จักชื่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าก็เป็นองค์เพื่อสิทธิมนุษยชนองค์กรหนึ่ง ไม่ได้มีอะไรมาก แต่มารู้จักจริงๆ ก็ที่ทำงานส่งอาจารย์เกี่ยวกับเรื่อง PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคนที่ออกมาพูดบ่อยๆ ในเรื่องนี้คืออาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ซึ่งเป็นประธานกรรมการแอมเนสตี้ จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้จัก

 

ทำไมถึงเลือกฝึกงานกับแอมเนสตี้?

เราสนใจในเรื่องสิทธิการแสดงออกอยู่แล้ว จึงปรึกษากับอาจารย์ว่าเราอยากขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้มากขึ้น ควรศึกษาหาข้อมูลอย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้รู้จักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น อาจารย์จึงไปคุยกับพี่กระติก สุธารี วรรณศิริ ที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม และแนะนำให้เรามาลองส่ง Port ไปที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพราะองค์กรที่ทำงานด้านนี้ จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสุด

 

งานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวัน?

หน้าที่หลักๆ คือต้องคอยดูเทรนด์หรือความนิยมช่วงนี้อะไรบ้าง เพื่อนำมาเขียนเป็นข่าว อย่างประเด็นของตาร์ วันเฉลิมเราก็มีส่วนร่วมทั้งการเขียนข่าวและการทำกราฟิกภาพประกอบ หรือในบางครั้งพี่ๆ จากฝ่ายแคมเปญเขาส่งข้อมูลเชิงวิชาการมาให้เราก็จะต้องทำภาพประกอบ สิ่งที่ต้องทำคือการย่อยข้อมูล และคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สื่อสารออกไปได้ดีที่สุด นอกจากนี้ก็มีงานเขียนบทความ งานถ่ายรูปภาพตามกิจกรรมต่างๆ ที่แอมเนสตี้จัดขึ้น

 

ความยากของงานที่ทำ?

เรารู้สึกว่าต้องปรับตัวในการทำงานค่อนข้างมาก เพราะต้องปรับโทนในการทำงานให้มันมีความเป็นกลางมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนที่เราทำ PR (ประชาสัมพันธ์) ให้กับชมรมถ่ายภาพที่มหาวิทยาลัย ที่ต้องมีการโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ก็สามารถทำได้อย่างอิสระ ซึ่งอาจเป็นเพราะการเป็นองค์กรนักศึกษาด้วย ไม่ใช่องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับประเทศ จึงสามารถอยากวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ แต่สำหรับการทำงาน เราต้องลดการวิจารณ์ลง ซึ่งเราเข้าใจนะ ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นด้วย เพราะมันคือการสร้างพื้นที่ให้คนเข้ามาในวงของเรามากขึ้น เพื่อให้เรื่องของสิทธิไม่กลายเป็นเรื่องที่ไกลตัว

และอีกเรื่องที่ต้องปรับคือการสื่อสารที่ต้องคิดให้มากขึ้น เพราะบางครั้งที่เขียนงานก็จะทำให้มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งนั้นมากๆ อย่างเราต้องเขียนข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 หรือเรื่องสิทธิที่จะหายใจ อารมณ์ในขณะนั้นคือโกรธมาก โทนในการเขียนที่ออกมาจึงดูรุนแรง เราจึงต้องแก้ไขโดยการทำงานชิ้นอื่นก่อน จึงค่อยกลับมาเขียนใหม่ เพื่อเป็นการตรวจสอบตัวเองว่าเราไม่ได้ใส่อารมณ์ของตัวเองลงไปในงานนั้นๆ

 

จะนำประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ในอนาคตอย่างไร?

รู้สึกว่าสิ่งที่เราได้แน่ๆ คือการทำงานเกี่ยวกับการสื่อสาร อย่างเช่นเรามีปัญหาในเรื่องของโทน และอารมณ์ในงานเขียน หรือเวลาที่สื่อสารสิทธิมนุษยชนที่ทำได้ยาก เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เนื่องจากยังคงมีการพูดถึงสิทธิมนุษยชนอยู่ตลอดเวลา อย่างในสังคมของทวิตเตอร์ ที่ในวันหนึ่งเราจะถูกโจมตีในเรื่องที่เรารู้สึกว่าตัวเองมีความชำนาญแล้วก็ตาม เราจึงต้องดูว่าจะสื่อสารอย่างไรให้คนหมู่มากสามารถเข้าถึงประเด็นนี้ และทำให้ไม่มีใครต้องถูกกีดกันออกจากวงสนทนา พยายามทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของทุกคน

 

ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมาฝึกงานกับแอมเนสตี้?

รู้สึกว่าแอมเนสตี้เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการจะสื่อสารเรื่องอะไร เป็นองค์ที่ดีในการเริ่มต้นที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อย่างเราเองที่เคยเห็นเรื่องสิทธิอยู่แล้วในรั้วของมหาวิทยาลัย หรือในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่พอได้มาทำงานจริง ได้เรารับรู้อะไรที่มีความลึกมากกว่านั้น ทำให้เห็นภาพอะไรบางอย่างที่ตอนแรกเราไม่เคยเห็น และก็เหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น อีกทั้งฝึกในเรื่องของการทำงานแบบเป็นขั้นเป็นตอน มีกระบวนการในการทำงานที่ดี

แอมเนสตี้สอนให้เรารู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น และพี่ๆ ในองค์กรไม่เคยด่าเรื่องงาน หรือไม่แม้กระทั่งทำให้เรารู้สึกกดดันตัวเองเลย ไม่เคยถูกด้อยค่าเลยแม้แต่ครั้งเดียว เราจะได้ทำงานหลายอย่างมาก ได้ลองทำในสิ่งใหม่ๆ ที่เราอาจจะคิดว่าตนเองทำไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ได้รับโอกาสในการลองผิด ลองถูก เรารู้สึกว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่ดีในการจุดไฟให้ตัวเองได้ทำสิ่งใหม่ๆ