สนทนากับเจน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

13 กรกฎาคม 2565

Amnesty International Thailand

ครบรอบ 2 ปี ของการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563   ที่รัฐบาลไทยตัดสินใจประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ขึ้นเพื่อควบคุมโรคโควิด19ปัจจุบันเป็นการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 18)1 นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ออกข้อกำหนดตามมานับถึงเดือนมีนาคม 2565 ได้ถึง 43 ฉบับ แต่ละฉบับวางมาตรการใหม่ สำหรับการควบคุมโรคและแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการเดิม เช่น การประกาศห้ามออกนอกเคหสถานตามช่วงเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) การสั่งปิดสถานที่ การห้ามทำกิจกรรม และรวมไปถึงการสั่ง "ห้ามชุมนุม" เป็นต้น   

 

เป็นที่สังเกตได้ว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่จะควบคุมสถานการณ์ของโรคโควิด 19 เพราะจากการเก็บข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยพบว่า เราพบว่าประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนและถูกริดลอนสิทธิเสรีภาพจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง       ไปแล้วอย่างน้อย 1,787 คน ในจำนวน 1,027 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 274 ราย ในจำนวนคดีเหล่านี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,444 คน ในจำนวน 623 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง) แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี  ซึ่งมีเยาวชนถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวทั้งสิ้น 149 คดี  ซึ่งการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เป็นข้อหาที่ถูกดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมมากที่สุด 

 

จากข้อมูลที่ยกมาข้างต้นอันเป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย จะเห็นว่าข้อหาที่ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ การฝ่าฝืน          พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และในรายงานฉบับดังกล่าวยังได้ระบุถึงความเดือดร้อนของประชาชาชนทั่วไปที่ต้องประสบปัญหากับการประกาศใช้พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวโดยเจน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและประสบปัญหาจากพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เจน สิตานัน ได้เล่าให้ฟังถึงความยากลำบากและความไม่เป็นธรรมจากพ.ร.ก.ฉบับนี้ แม้ว่าเธอจะบอกกับเราว่าชีวิตของเธอปกติดี แต่ไม่ได้มีความสุขอะไรมากเพราะน้องชายของเธอคือ ตาร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2563นอกจากที่เธอต้องเป็นห่วงเรื่องคดีของน้องชาย เธอยังต้องประสบกับการเจอคดีด้วยตัวเองอีกด้วย ดังนั้นแอมเนสตี้ฯ จึงได้ชักชวน           เจนสิตานัน พูดคุยถึงชีวิตของเธอที่ได้รับผลกระทบกับร่างพระราชกำหนดฯ ดังกล่าววาระครบรอบ 2 ปีของการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และครบรอบ 2 ปีที่าร์ วันเฉลิม น้องชายของเธอได้หายตัวไปอีกด้วย 

 

 

 

วามคืบหน้าของเรื่องวันเฉลิมและสิ่งที่ได้รับกลับมาจากการเรียกร้องความยุติธรรม  

มันก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย เพราะว่าตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราถือว่าเราทำอะไรมามากมายแล้วก็มีหลักฐาน มีข้อมูลต่างที่มอบให้หน่วยงานของรัฐ แต่เราคิดว่าหน่วยงานของรัฐเพิกเฉย และไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับคดีมันก็เลยยังไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรสำหรับตัวเราได้อะไรมาเยอะแยะเลยค่ะ ทั้งเรื่องความยุ่งยากลำบาก แล้วก็ได้คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มา 2 คดี จากการชุมนุมตอนเดือนกันยายนที่แยกอโศก วันนั้นพี่ไปพูดเรื่องพ.ร.บ.ป้องกันและการบังคับทรมานอุ้มหาย เพื่อให้คนเข้าใจว่าทำไมประเทศไทยถึงต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมาการซ้อมทรมานและการทำให้สูญหาย มันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้นเราเลยไปผลักดันเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย อีกคดีหนึ่งก็คือวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชน พี่ไปยื่นหนังสือที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN)เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้วันเฉลิมและครอบครัวของเรา วันนั้นมีคนไปยื่นหนังสือในคดีของเขาเองที่โดนเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิด้วยคนก็ไม่ได้เยอะ ซึ่งเราไม่ได้ชุมนุมหรือไม่ได้ทำอะไรเลย พวกตำรวจกับสายสืบยังเยอะกว่าพวกเราอีก พอยื่นหนังสือเสร็จแล้วก็กลับ แต่ปรากฏว่าพี่โดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการไปยื่นหนังสือหน้า UN และยังมีคนโดนในคดีเดียวกันอีก 5-6 คน 

 

ความรู้สึกหลังจากโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

จะพูดได้มั้ยว่ามันไร้สาระมาก ยิ่งทางการกระทำกับเราแบบนั้น เราก็ยิ่งต้องสู้กับทางการ มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เขาสามารถทำอะไรกับเราก็ได้ ถามจริงนะคะ ตอนนี้ประเทศไทยมีอะไรที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนบ้าง พี่ว่าพี่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลชุดนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้องหายไป หรือการที่ไปยื่นหนังสื่อที่หน่วยงานต่าง ๆ เราไม่ได้คำตอบใด ๆ จากหน่วยงานรัฐเลย แล้วรัฐบาลก็ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมพวกเรา เขาไม่อยากให้มีการชุมนุม แต่นั่นทำให้ประชาชนทั่วไปใช้ชีวิตประจำวันได้ยากขึ้น ข้าวยากหมากแพงทุกอย่าง แล้วประชาชนจะอยู่ยังไงประเทศพังหมดแล้วกับการที่ไม่ได้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี่แหละเป็นสิ่งที่พี่มองว่ารัฐบาลเห็นแก่ตัวคิดถึงแต่ตัวเอง 

 

ผลกระทบของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นกับตัวเองมีอะไรบ้าง 

จริงแล้วมันไม่ได้เกิดเฉพาะแค่กับตัวพี่เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีมานานแล้วจึงสร้างความยุ่งยากวุ่นวายให้คนที่โดนคดี เสียเวลา เสียค่าเดินทาง เด็กบางคนก็ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ไปถึงก็ถูกเลื่อน ไปบ่อยขึ้นมันก็เพิ่มภาระให้ทุกคน แต่ก็ไม่แปลกใจหรอกที่รัฐทำกับพวกเราแบบนี้ เพราะเขาไม่อยากให้เราออกมาเคลื่อนไหวพ.ร.ก.ฉุกเฉิน น่ะมีไว้เพื่อคุมการชุมนุมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล พี่มองว่าสิ่งที่รัฐทำกับเรา ไม่ได้ทำให้เราหยุดเคลื่อนไหวนะ ยังไงก็มีคนออกมาเรื่อย    สิ่งที่เขาทำมันไม่มีประโยชน์เลย มันกลับเป็นโทษมากกว่า จริงแล้ว การที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันทำให้เศรษฐกิจพังพินาศไปหมดไม่ว่าจะเป็นแม่ค้า พ่อค้า พนักงานประจำ หรือพนักงานให้บริการอื่น  

 

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรไปต่อหรือพอแค่นี้? 

มันควรยกเลิกตั้งแต่ปีก่อนแล้วค่ะ แต่ที่รัฐบาลยังดึงดันคงกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอาไว้ ก็เพื่อคงความชอบธรรมให้กับตัวเอง     ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่ต่อ ซึ่งมันไม่จริง ต่อให้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอยู่ คนที่โดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังออกมาเคลื่อนไหวเหมือนเดิม และอาจจะมีการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณยังไม่ยกเลิกกฎหมายนี้ อย่างพี่เนี่ยก็ไม่ได้กลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึงจะมีแต่ถ้าคนไม่ได้รับความเป็นธรรมเขาก็ออกมาชุมนุมอยู่ดี มันไม่มีผลอะไร นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจพังลงไปเท่านั้น 

 

อยากฝากอะไรถึงคนที่แจ้งข้อหานี้กับตัวเองไหม 

ขอฝากถึง สน.นางเลิ้งนะคะ คุณแจ้งความจับประชาชนทุกคนด้วยข้อหาไร้สาระแบบนี้ หน้า UN ก็ไปแจ้ง การชุมนุมของบางกลอยก็แจ้ง แล้วมาบอกว่าให้ยอมเสียค่าปรับ พี่ไม่ยอมรับ พี่เข้าใจว่าเด็กบางคนไม่มีเวลาที่จะไปสำนักงานอัยการ ไปขึ้นศาล เขาก็ยอมจ่ายค่าปรับ ซึ่งไม่ใช่ว่าพี่เสียดายเงินค่าปรับ 2,000 บาท แต่มันคือกฎหมายกลั่นแกล้งประชาชน มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นที่คุณจะมาเอาเงินประชาชนด้วยการแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินพี่ไม่เสียเงินค่ะ พี่จะสู้คดีให้ถึงที่สุด คุณจะทำอะไรก็ช่าง ให้เราไปไหน จะตัดสินจำคุกหรืออะไร พี่ยอมหมดทุกอย่าง ฝากด้วยนะคะ สน.นางเลิ้ง คุณทำกับประชาชนบบนี้ เดี๋ยวเราเจอกันค่ะ ส่วนรัฐบาลพี่อยากบอกคนที่กำลังทำงานกับรัฐบาลชุดนี้อยู่ว่า คุณไม่ควรเอาความรู้ความสามารถของคุณมาใช้กลั่นแกล้งประชาชนในข้อหาที่ไร้สาระขนาดนี้  

 

ลงชื่อในฏิบัติการด่วนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดย     แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  

จริงๆ แล้ว พี่เข้าใจว่าประชาชนทั่วไปเขาไม่รู้ว่าการที่รัฐออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วมันกระทบอะไรบ้าง พี่อยากบอกให้คุณเข้าใจว่า ที่ผ่านมาที่เขาไม่ให้เราออกมาทำมาหากิน ต้องทำงานอยู่บ้าน มันเป็นเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ค่ะ จริงการมีหรือไม่มีก็ค่าเท่ากัน ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากจะเชิญชวนทุกคนที่มองเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้มันไม่มีประโยชน์ ก็ออกมาร่วมกันล่ารายชื่อให้ยกเลิกมันไป มาแสดงตัวว่ามีใครที่ได้รับผลกระทบจากมันบ้าง พี่หวังว่าจะได้หลายแสนชื่อนะ แต่อย่างที่เรารู้กันว่ามีการรณรงค์ล่ารายชื่อกันกี่ครั้งแล้วมันก็ยังเหมือนเดิม ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ได้ยังไง ทั้งที่คนออกมาไล่มากขนาดนี้ เขาก็ยังมองไม่เห็นหัวประชาชนเลย... 

 

จากบทสนทนาดังกล่าวของเจน สิตานันถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเธอรวมไปถึงคนอื่น ๆ จากการประกาศใช้ พ.ร..ฉุกเฉิน นั้นได้ทำให้เห็นว่าการออกพระราชกำหนดดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้อย่างเหมาะสมเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่นัยหนึ่งเป็นการใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกอบอาชีพหรือเสรีภาพในการแสดงออกเรื่องต่างๆ ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงได้ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องการยุติข้อกล่าวหาต่อ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และบุคคลอื่น ต่อการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ เพราะหากประเมินจากระยะเวลา 2 ปีเต็มที่ พ.ร.. ฉบับนี้ยังคงถูกใช้อยู่โดยที่ผลลัพธ์ของการใช้งานนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไขเรื่องโรคระบาดแต่เพียงอย่างดียว แต่ยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย ดังนั้นการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จึงสมควรเกิดขึ้น