สองปี เพื่อนไม่ลืมวันเฉลิม

14 มิถุนายน 2565

Amnesty International

 

‘มีนักเขียนคนนึงเขียนไว้ว่า การมีชีวิตที่เป็นอมตะได้ คือการเขียนถึงเขา เรื่องราวของเขาจะยังดำรงอยู่ ผมไม่รู้ว่าต้าร์จะมีชีวิตยังไง แต่ชีวิตของเขาจะยังคงอยู่ในสังคมไทย เรื่องราวของเขา วิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเขา จะทำให้เขายังคงมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยในตอนนี้’ 

- สมบัติ  บุญงามอนงค์ 

 

4 มิถุนายน 2565 คือสองปีที่ครบรอบการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์  

ตลอดสองปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า ครอบครัวของวันเฉลิมได้ร้องเรียนกับ 6 องค์กรในไทย 3 องค์กรรัฐในกัมพูชา และ 2 หน่วยงานระหว่างประเทศ 

 

นั่นคือสิ่งที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์หายตัวไปจากหน้าที่พักของเขาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กับคำพูดสุดท้ายที่เขาได้พูดกับสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นพี่สาวผ่านเสียงในโทรศัพท์ว่า “หายใจไม่ออก” 

 

วันเฉลิมถูกบังคับให้สูญหาย ขณะที่สิตานันยังคงมุ่งหน้าทวงถามความยุติธรรมให้กับเขาและครอบครัว

 

 

การต่อสู่ในฐานะญาติผู้สูญหาย

 

ก่อนหน้านี้ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ได้เผยให้เราฟังว่า ตลอดระยะเวลาในการต่อสู้ของเธอ สิตานันและครอบครัวไม่เคยได้รับความคืบหน้าใด ๆ เกี่ยวกับคดีของวันเฉลิม แม้จะเดินหน้าเรียกร้องให้ทางการไทยและกัมพูชาตามหาน้องชายตลอดมา 

 

“สองประเทศนี้เลือกที่จะไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเอกสารที่เราให้ หลักฐานที่เรามีและเราหาเองเราเก็บทุกอย่างเอง แล้วมอบให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจของทั้งสองประเทศ แต่เขาก็ไม่ได้สนใจกับหลักฐานที่เราส่งให้

 

“ไม่ว่าที่อยู่ของต้าร์หรือหลักฐานทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่กัมพูชา ทุกคนสามารถบอกได้ว่านั่นคือเรื่องจริง ต้าร์หายไปจริงจากกัมพูชา

 

“แม้กระทั่งพาสปอร์ตที่ต้าร์ใช้เดินทางไปต่างประเทศ หรือการเข้ามาด่านตรวจคนเข้าเมืองที่กัมพูชา ถ้าเขาจะสืบ เขาสืบได้หมด แต่เขาไม่ทำ

 

“หนึ่งวันก่อนต้าร์หายไป ต้าร์ได้ไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารเอบีเอ ซึ่งมีกล้องวงจรปิดที่หน้าตู้อยู่แล้ว เราสามารถระบุเวลาด้วยว่าเขาไปกดเงินตอนไหน ด้วยอำนาจของรัฐ เขาสามารถไปขอภาพกล้องวงจรปิดจากธนาคารได้ แต่เขากลับไม่ทำ ซึ่งการที่เขาไม่ทำก็คือทั้งสองประเทศรู้เห็นเป็นใจกับการหายไปในครั้งนี้ของวันเฉลิม” 

 

ย้อนกลับไปในช่วงเดือนแรกของการหายไปของวันเฉลิม นั่นเป็นช่วงเวลาที่สิตานันต้องเผชิญกับความเครียด  เธอกล่าวว่าเธอตกอยู่ในช่วงที่ต้องตัดสินใจ ว่าจะมุ่งหน้าทวงถามความยุติธรรม หรือจะปล่อยไปเลย

 

“เพราะทุกอย่างมันต้องใช้เงิน มันยากมาก เพราะเป็นช่วงโควิดด้วย การจ้างทนายต้องใช้เงิน แล้วเราต้องจ้างทนายต่างประเทศ กว่าจะหาทนายได้ก็ต้องใช้เวลา หลังจากหาทนายได้แล้ว พอทนายรู้ว่าเป็นคดีดัง ก็ยกเลิก เราก็ต้องหาทนายใหม่ ซึ่งมันไม่ใช่คดีที่ใครก็อยากทำ

 

“ในช่วงเวลานั้น ทุกคนจะบอกพี่ว่าอย่าออกมานะ อย่าทำอะไรนะ เพราะเดี๋ยวก็หายไปอีกคนหนึ่ง ตอนนั้นเครียดมาก นอนไม่หลับ แล้วเราไม่รู้จักด้วยว่าใครเป็นใคร ใครคืออะไร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันใหญ่เกินกว่าจะไปแจ้งความเหรอ หรือไปทำอะไรเหรอ เรายังจับต้นชนปลายอะไรไม่ถูก”

 

เธอพร้อมทีมทนายได้เดินทางไปยังกรุงพนมเปญ และรวบรวมหลักฐานอย่างสุดความสามารถเพื่อยืนยันว่าน้องชายถูกบังคับสูญหาย ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 

 

“เราเอาเอกสารหลักฐานทุกอย่างที่มีทั้งหมดไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด แล้วเวลาเราไปตามเรื่อง เขาถามว่า ‘มีหลักฐานใหม่ไหม’  และเขาจะอ้างว่าติดสถานการณ์โควิด-19 เขาไปกัมพูชาไม่ได้ แล้วเราล่ะ เราเป็นประชาชนตาดำๆ ทำไมเราไปได้ ทั้งที่เขามีทั้งอำนาจสืบสวนสอบสวน อำนาจเงิน มีบุคลากร มีหน่วยงานของรัฐที่ประสานรัฐต่อรัฐได้ แต่เราล่ะ เราเป็นชาวบ้านธรรมดา เราเป็นประชาชน

 

“หลักฐานส่วนหนึ่งที่เรามีก็มาจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ของไทย มันชี้ชัดอยู่แล้วว่าวันเฉลิมพำนักอยู่ที่แม่โขงการ์เด้นส์คอนโดมิเนียม แล้วเขาก็ส่งคนตามต้าร์ตลอดเวลา เขาถ่ายรูปต้าร์ในคอนโด ที่ต้าร์นั่งกินกาแฟ ไปไหนถ่ายรูปต้าร์ตลอด แล้วคุณไม่รู้เห็นได้ยังไง ถูกไหม มันเป็นไปไม่ได้

 

“ทำไมรัฐไทยผลักภาระให้ญาติผู้เสียหาย ด้วยการที่ถ้าคุณมีปัญญาทำ ก็ทำไป ถ้าคุณไม่มีปัญญาทำ ก็ต้องปล่อยไปตามมีตามเกิดเหรอ  ถ้ามันไม่ใช่ข่าวดัง มันจะเป็นยังไง เพียงแค่ต้าร์เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเหรอ? ถึงไม่ทำการสืบสวนสอบสวน มันแค่นี้หรือเปล่า หรือทุกสิ่งทุกอย่าง เขารู้เห็นเป็นใจกันอยู่แล้วจึงไม่ทำอะไรเลย” 

 

“แม้กระทั่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พี่ไปที่กระทรวงยุติธรรม ไปพบคุณธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เขาก็ตอบว่า ‘เดี๋ยวท่านติดตามให้’ เหมือนเดิม เหมือนเดิม เหมือนเดิม (น้ำเสียงเน้นย้ำ) รับปากแล้วมันไม่ได้มีผล มันสองปีแล้ว มันไม่มีประโยชน์ รับปากไปอย่างนั้นแหละ เรารู้อยู่แล้วพวกนี้รับปากแค่เพื่อให้มันจบ” 

 

เช่นเดียวกับกรณีอื่น ๆ ของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ที่ญาติต้องเผชิญกับการถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพบกับอุปสรรคมากมายในการต่อสู้เพื่อทวงถามความยุติธรรม สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นผู้ที่ตกอยู่ในรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ และต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่เธอได้ร่วมรณรงค์เพื่อทวงถามความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทย และน้องชายของเธอ

 

“เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่แยกอโศก พี่ได้ไปพูดเรื่อง ร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ กระทำให้บุคคลสูญหายในกิจกรรมคาร์ม็อบ แล้วก็โดนแจ้งความในข้อหาละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ  อัยการสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมอยู่

 

“อีกคดีหนึ่ง คือเกิดขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564  ที่หน้ายูเอ็น พี่ไปยื่นหนังสือกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยต่อยูเอ็น ซึ่งคนยื่นมีกัน 12 คน โดนข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามรวมกลุ่มตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อีกเหมือนกัน พี่ต้องไปรายงานตัวต่อสำนักงานอัยการ ตลิ่งชัน ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ทั้งสองคดีพี่ถูกตั้งข้อหาเพิ่มคือ ขัดคืนคำสั่งเจ้าพนักงาน เพราะพี่ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ” 

 

“ตลอดระยะเวลาช่วงปีแรกที่เคลื่อนไหว ก็จะมีตำรวจนอกเครื่องแบบสี่ถึงห้านายคอยติดตามตลอด บางทีเขาก็จะยืนห่าง ๆ บางทีก็เข้ามานั่งข้าง ๆ เลย แอบดูว่าเราทำอะไร เขาบอกว่า ‘ขอโทษนะครับ ผมต้องทำเพราะนายสั่งมา และจะไปไหนต่อ ผมขอตามไปด้วยได้ไหม’ แม้กระทั่งพี่ไปทำบุญวันเกิดให้ต้าร์ที่วัด เขาก็ตามไป” 

 

“ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังพิเศษหลุดออกมา ซึ่งมีชื่อของพี่กับทนายอีกคนหนึ่งขึ้นในรายชื่อ เป็นข้อปฏิบัติของฝ่ายความมั่นคงหากพี่นั่งเครื่องบินไปลงอุบลราชธานีซึ่งเป็นบ้านเกิดของพี่ ในช่วงวันที่ 29-30 เมษายน เขาจะเชิญพี่ไปกินกาแฟ เพราะช่วงนั้นจะมีการรับเสด็จที่นั่น พี่จึงต้องบอกแม่ ‘ถ้ามีตำรวจมา ก็ใจเย็นๆ นะ ถ่ายรูป แล้วก็ให้เบอร์โทรศัพท์ของเจนไป’ พี่ก็กลัวแม่ตกใจ เพราะแม่ก็ยังอยู่ที่อุบลราชธานี” 

 

แม้จะต้องเผชิญกับการถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่สิตานันก็ยังคงมุ่งหน้าทวงถามความยุติธรรมให้กับน้องชาย 

 

เพราะเธอไม่ได้ต่อสู้ไปอยู่คนเดียว หลังจากวันที่วันเฉลิมหายไป เธอจำได้ดีว่ามีเด็กสามคนที่ไปหน้าหอศิลป์แล้วประกาศถามว่า "จับเพื่อนเราไปทำไม" ในตอนนั้นเองเธอตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า พวกเขาเป็นเพื่อนกับน้องชายของเธอตั้งแต่เมื่อไหร่ 

 

“หลังจากนั้น คนเริ่มลุกขึ้นมา มันเป็นกระแสเป็นวงกว้าง พี่ก็มานั่งคิดว่า ขนาดคนอื่นที่ไม่รู้จัก ยังออกมาเรียกร้องขนาดนี้ แล้วเราเป็นคนในครอบครัว จะอยู่เฉยเหรอ พี่ก็ตัดสินใจตอนนั้นว่าจะลุกขึ้นสู้ และถ้าเราไม่ทำ ไม่ออกมา มันก็จะมีกรณีที่เป็นผู้ลี้ภัยหายไปอีกเหมือนที่ผ่านมาไหม” 

 

เธอจึงไม่ได้เพียงทวงถามความยุติธรรมให้กับวันเฉลิมเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังเดินหน้าเพื่อทวงความยุติธรรมให้กับผู้ลี้ภัยที่ถูกบังคับให้สูญหาย 

 

สิตานันย้ำให้เราฟังในทวิตเตอร์สเปซเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่าเธอจะไม่ยอมให้ใครทำร้ายประชาชนอีกต่อไป เธอจะตามหาผู้ลี้ภัยที่หายไป และจะพยายามทำให้ดีทีสุด 

 

“เราไม่รู้หรอกว่าจะทำได้แค่ไหน แต่จะไม่ละความพยายาม” 

 

“พี่ชอบพูดประจำว่า ตอนนี้ถ้าต้าร์มันได้ยินหรือได้เห็นพวกเรา มันจะบอกว่ามันไม่เสียใจเลยนะที่มันหายไป แล้วมันจะดีใจด้วยที่มันหายไปแล้วประเทศมันเปลี่ยน มีคนออกมาด่าบนท้องถนนได้ คนตาสว่างเยอะขึ้นจากการหายไปของเขา พี่รู้เลยว่าต้าร์มันจะไม่เสียใจเลย มันเป็นคนอย่างนั้นจริงๆ

 

“การที่ต้าร์หายไป เป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานสำหรับคนที่รู้จักเขา และคนที่เป็นเพื่อนเขา ถ้าน้องพี่ไม่ได้หายไป พี่ก็ไม่ได้อยากมายืนอยู่ตรงนี้เลยนะ จริง ๆ มันเหนื่อยมาก เหนื่อยกับทุกสิ่งทุกอย่าง มันอยู่ยากนะ คือตลอดเวลาที่ผ่านมาสองปี มันเป็นอะไรที่ลำบากมากสำหรับพี่” 



“เราคือเพื่อนวันเฉลิม” 

 

การยืนหยัดของประชาชนเพื่อเคียงข้างกับครอบครัวผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ “เหล่าคนธรรมดา” จะร่วมกันทำเพื่อให้กำลังใจครอบครัวในระหว่างทางอันยาวนานของการทวงถามความยุติธรรม 

 

ปี 2563 ท้องถนนเต็มไปด้วยเสียงการพร่ำตะโกนถามของประชาชนว่าวันเฉลิมหายไปไหน 

หลังจากนั้นมาการรณรงค์ได้ผุดขึ้นทั้งบนโลกออนไลน์ และป้ายถามหาความยุติธรรมในโลกออฟไลน์ 

 

2 มิถุนายน 2565 ประชาชนได้ร่วมยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวของพวกเขาด้วยการบอกว่า “เราคือเพื่อนวันเฉลิม” 

 

และเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เป็นอีกวันหนึ่งที่มีงานรำลึกถึงการถูกบังคับให้สูญหายของวันเฉลิม โดยในปีนี้งานรำลึกถึงเขามีชื่อว่า “นินทากันสักนิด มิตรวันเฉลิม” 

 

เพราะในความทรงจำของเพื่อนและครอบครัว วันเฉลิมคือคนที่มาพร้อมกับเสียงหัวเราะ บรรยากาศในปีนี้จึงเต็มไปด้วยเสียงแห่งความทรงจำของเพื่อนของเขาที่ได้มาล้อมวงเม้าท์วันเฉลิมกันอย่างสนุกสนาน กับวง        “เพื่อนเก่าเพื่อนแก่” โดยโจ๊ก แชมป์ ผึ้ง และเทียน เพื่อนของวันเฉลิม และวง  “นินทากันสักนิด มิตรวันเฉลิม” โดยรังสิมันต์ โรม สมบัติ บุญงามอนงค์ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในฐานะเพื่อนรักนักกิจกรรมของวันเฉลิม ดำเนินรายการโดยฐปณีย์ เอียดศรีไชย 

 

กลิ่นไอแห่งความทรงจำ เคล้ากับนิทรรศการที่จัดแสดงภาพถ่ายสุดพิเศษของวันเฉลิม มาพร้อมกับ เสียงเพลงจากลูกพีช เคน บุรินทร์ และวงเยนา พร้อมกิจกรรมจุดเทียนแห่งความหวังในช่วงท้าย เพื่อเป็นการยืนหยัดและประกาศเจตนารมณ์ ว่าต้องไม่มีใครถูกบังคับให้สูญหายอีกต่อไป

 

ด้วยใจที่ยังคิดถึง 

 

“ไม่ใช่แค่ตัวของต้าร์ที่หายไป เฟซบุ๊กของเขาก็หายไปด้วย พี่เองก็ไม่ทราบว่าหายไปได้ยังไง ในนั้นมันมีความทรงจำหลาย ๆ เรื่อง มีคลิปต้าร์ร้องเพลงบ้างอะไรบ้าง มันทำให้หลายคนที่คิดถึงต้าร์ก็เข้าไปดูเฟซบุ๊กของเขา ฝากทุกคนช่วยตามด้วยนะคะ” สิตานัน พี่สาวของวันเฉลิมกล่าวในช่วงที่สองของวงสนทนา  “ตลอดเวลาสองปี ทั้งไทยและกัมพูชายังไม่มีคำตอบให้เราเลย อยากถามหน่วยงานรัฐว่าที่ท่านนิ่งเฉยเป็นเพราะอะไร ฝากผู้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนด้วยเช่นกันค่ะ” 

 

แม้เฟซบุ๊กของเขาจะหายไป แต่ความทรงจำที่ผู้คนรอบตัวของวันเฉลิมยังมีต่อเขายังคงไม่อาจลบเลือน สำหรับเพื่อน เสียงหัวเราะของวันเฉลิมยังดังกึกก้อง ไปพร้อม ๆ กับเรื่องราวของเขา เช่นเดียวกับที่สมบัติ บุญงามอนงค์ เพื่อนของวันเฉลิมได้กล่าวถึงเขาในความทรงจำ ตั้งแต่วันแรกที่ได้พบกัน จนวันสุดท้ายที่ได้ยินข่าวคราวของเขาว่า  “ต้าร์มีความกล้าหาญที่ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่วันแรกที่ผมเจอเขา และผมเห็นพัฒนาการของเขา เอกลักษณ์ของต้าร์คือ เขาแสดงออกด้านการเมืองด้วยความขบขัน ขณะเดียวกันคุณจะเห็นเขาจัดวาง รวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ และนำข้อมูลมาแปะให้คุณเลย แต่จริง ๆ คนที่ใช้อารมณ์ขันในการเคลื่อนไหว จริง ๆ แล้วเขาเครียดเลยนะ 

 

“ช่วงรัฐประหารใหม่ ๆ มีการเลือกบุคคลทางการเมืองไปรายงานตัวและบรรยากาศทางการเมืองในตอนนั้น มันทำทำให้คนจำนวนนึงต่อให้ไม่มีชื่อในรายการก็จะรู้สึกกังวล” 

 

“การที่เขาผลักตัวเองออกนอกพื้นที่ไป มันทำให้เห็นว่าบรรยากาศในเมืองไทยไม่มีอะไรที่ปลอดภัยหรือแน่นอนได้ คือการต้องใช้ไหวพริบและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน บทบาทของเขาในตอนที่อยู่ต่างประเทศก็เข้มข้นขึ้น” 

 

“ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าอะไรทำให้คนที่สั่งการตัดสินใจดำเนินการลักษณะนั้น (การบังคับบุคคลให้สูญหาย) กับต้าร์ เพราะในมุมมองผม ผมคิดว่าต้าร์ทำได้แค่เป็นคนกวน ๆ”

 

ด้านรังสิมันต์ โรม ได้พาทุกคนย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ได้พบเจอกันกับวันเฉลิมเป็นครั้งแรกที่บริเวณถนนพระอาทิตย์ กับบทสนทนาเรื่องเศรษฐกิจ แม้ในช่วงเวลานั้นเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้าร์ วันเฉลิมคือใคร แต่เขาจดจำได้ว่าต้าร์คือคนที่มาพร้อมกับเสียงหัวเราะ และเคยมีบทสนทนากับต้าร์ในยามค่ำคืนจนถึงตีสาม

 

“เราจำเขาในฐานะคนที่เฮฮาและมีสาระ มีแง่มุมที่ทำให้พวกเราได้คิดต่อ”

 

ก่อนที่บทสนทนานั้นจะหายไป เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับรัฐประหารในปี 2557

 

“วันแรก ๆ หลังรัฐประหาร เขาคือหนึ่งในเป้าหมายของการติดตาม เขาและอีกหลายคนต้องลี้ภัย และการทำการสนทนาต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยเสรีภาพ ก็ไม่อาจทำได้อีกต่อไป เราไม่อาจนั่งดื่มด้วยกันอีกแล้ว”

 

รังสิมันต์กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เขาเสียใจที่สุดคือวันที่ได้เห็นคลิปวิดีโอการถูกอุ้มหายของวันเฉลิม “มันเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าคุณทำกับคนแบบนี้ได้ยังไง.. พี่ต้าร์เนี่ยนะ เป็นตัวอันตราย? ผมรู้สึกว่า พี่ต้าร์เนี่ยนะ? นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมเสียใจ การรัฐประหารได้พรากหลายสิ่งหลายอย่างไปจริง ๆ และมันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นนอกจากพี่ต้าร์ และเกิดกับอีกหลายคนที่สุดท้ายเราเจอเขาในแม่น้ำโขง ที่สุดท้ายเขาไม่อาจเห็นความเปลี่ยนแปลง

 

“มันเจ็บปวดมาก ๆ  สิ่งแรกที่ผมคิดถึงเลยคือผมคิดถึงครอบครัวของพี่ต้าร์ เขาจะต้องอยู่กับความรู้สึกที่ต้องตั้งคำถามว่าเขายังมีชีวิตอยู่รึเปล่า และมันเจ็บปวด มันไม่รู้จะพูดยังไง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมหวังว่าเราจะคืนความเป็นธรรมให้เขาได้”

 

“พี่ต้าร์ไม่ใช่ภัยสังคมแน่นอน เขามีความฝัน ให้เสียงเฮฮากับเพื่อนได้ตลอดเวลา ในยามที่คุณเป็นนักกิจกรรม มันมีความเหนื่อย ความท้อ ความยาก ที่มันท้อบ้าง แต่เขาคือคนที่ทำให้เรากลับมามีไฟได้ในเวลาเพียงไม่นานที่ได้คุยกับเขา”

 

“ทำไมคนแบบนี้ถึงเป็นเป้าหมายของการถูกรังแกได้ขนาดนี้ มันเจ็บปวดจริงๆ และเจ็บปวดยิ่งกว่าที่เราต้องรอคอยนานขนาดนี้ เราพยายามผลักดันกฎหมายและไม่รู้จะทำยังไงแล้วจริง ๆ ที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับพี่ต้าร์”

 

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ได้กล่าวเสริมว่า “ผมนั่งฟังแล้วแทบจะร้องไห้นะ มันน่าเศร้าสำหรับคนที่มีความทรงจำร่วมกัน ผมอาจจะมีความทรงจำกับพี่ต้าร์น้อยที่สุด เพราะกว่าจะได้คุยก็เขาลี้ภัยไปแล้ว ผมมีโอกาสได้เจอกับเขาตอนจบมอปลาย ตอนปี 60 ในตอนที่ผมเป็นนักกิจกรรมที่ทำเรื่องการศึกษา”

 

“ตอนนั้นผมได้ไปเที่ยวกับเพื่อนเพื่อดูประวัติศาสตร์ที่กัมพูชา และได้รู้ว่าพี่ต้าร์ลี้ภัยอยู่ที่นั่น เรารู้ว่ามันเจ็บปวดและได้พูดคุย ได้เจอพี่ต้าร์ พี่ต้าร์เป็นคนสนุกครับ และมีความสามารถมาก เขาพยายามหาเรื่องเล่าต่าง ๆ มาตลอด และได้รู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองที่นั่น”

 

นอกจากนี้ พริษฐ์ยังได้เล่าถึงวันที่ทราบข่าวว่าวันเฉลิมหายไปว่า “พี่ต้าร์คือเหตุผลที่ทำให้เราลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ผมจำได้ว่าพี่เทียน (ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข) โทรมาหาพี่สมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) วันนั้นและเราก็ได้รู้เรื่องไปด้วย มันมีเรื่องที่เกิดขึ้นสองอย่างในใจ เราเคยเห็นหน้ากัน และเราเชื่อในประชาธิปไตยด้วยกัน ตอนที่ได้ยินข่าวว่าเขาหายไป มันเหมือนกับที่เราได้ยินเรื่องที่หลายคนหายไป”

 

“มันเป็นสิ่งที่น่าหดหู่และร้ายแรงและอาจมีเหตุผลต่าง ๆ ที่ทำให้พี่ต้าร์ลี้ภัยและโดนทำร้าย และถ้ามันผ่านไปเงียบ ๆ และไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราจะเรียกว่าตัวเองเป็นประชาชนได้หรอ การทวงความเป็นธรรมให้กับพี่ต้าร์ มันคือการทวงคืนความเป็นประชาชนให้ตัวเองด้วย คนเราจะหายไปแบบนี้ไม่ได้”

 

“จริง ๆ ที่มันมีเหตุการณ์พี่ต้าร์ เพราะเราปล่อยให้ทุกอย่างเงียบไปในก่อนหน้านี้ ถ้าเราตื่นตัวแต่แรก มันก็อาจจะไม่มาถึงพี่ต้าร์ ต่อไปมันอาจจะเป็นผมก็ได้ การถูกคุกคามไม่ใช่ว่าผมไม่เคยเจอ ผมเองก็เคยโดน เราไม่สามารถที่จะอยู่เฉย ๆ ได้ ที่ผมลุกขึ้นมาสู้มันไม่ใช่ว่าพี่ต้าร์เป็นคนพิเศษ แต่ผมสู้ เพราะพี่ต้าร์เป็นคนธรรมดานี่แหละ เขาคือคนธรรมดาเหมือนพวกเราตอนนี้ เขาไม่ใช่ภัยความมั่นคงอะไรเลย เขาเป็นคนขายขำ เล่าเรื่องตลกต่าง ๆ มากมาย เขาเป็นคนอารมณ์ดี”

 

“ผมหวังว่า #พรบทรมานอุ้มหาย จะได้รับการผลักดัน เราจะได้ไม่ต้องมีวันเฉลิมอีก จะได้ไม่มีการบังคับให้สูญหายอีก ให้พี่ต้าร์เป็นคนสุดท้ายครับ” 

 

16:54 กับเรื่องราวที่เปลี่ยนไปในพริบตา

 

สิตานันกล่าวว่า เธออยู่กับคำถามว่าทำไมน้องชายจึงถูกอุ้มหายไปตลอดเวลา เธอยังจำได้ดีว่าเวลา ราว 16:54 น. เธออยู่ในสายโทรศัพท์กับวันเฉลิม ในตอนที่ได้ยินคำว่า “หายใจไม่ออก” 

 

“เรานึกตลอดเวลาว่าถ้าเป็นคนอื่นที่เป็นเพื่อนต้าร์ เพื่อนคนนั้นจะคิดไหมว่าเกิดอะไรขึ้นกับต้าร์ หรือแค่คิดว่ามันแค่ตัดสายไป แต่ทำไมวันนั้นมันบังเอิญที่เป็นเราอยู่ในสาย ตอนนั้นเราคิดว่าเราเร็วแล้วนะ พอเรารู้ปุ๊บ เราโทรหาเพื่อนที่อยู่กัมพูชา ไม่ถึง 20 นาที เพื่อนบอกว่าทำไมข่าวมันดัง ขนาดดังแล้ว เร็วแล้ว ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่รู้ข่าวคราวของวันเฉลิม

 

“ณ วันนี้ถ้าย้อนกลับไป คนสั่งการเขาคงเสียใจนะว่าทำไมทำแบบนี้ ถ้าเขาไม่ทำกับต้าร์ ก็คงไม่เหตุการณ์บนท้องถนน อยากจะฝากถึงผู้ที่กระทำว่าคุณอย่าคิดว่าไม่มีใครรู้ในสิ่งที่คุณทำ และสิ่งที่คุณทำมันได้เปลี่ยนเหตุการณ์ไปในพริบตา และฝากเขาให้ออกมายอมรับผิดได้แล้ว มันผ่านมาสองปีแล้ว”

 

สมบัติเสริมว่า “ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในบางประเทศ กฎหมายที่กำลังจะออกจะต้องชื่อกฎหมายต้าร์วันเฉลิม มันจะถูกตั้งตามชื่อของผู้ที่ถูกกระทำให้สูญหาย  ถ้ากฎหมายนี้ผ่านเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วก็อาจจะเป็นกฎหมายชื่อทนายสมชาย 

 

“มีนักเขียนคนนึงเขียนไว้ว่า การมีชีวิตที่เป็นอมตะได้ คือการเขียน เรื่องราวของเขาจะยังดำรงอยู่จากการเขียน วันนี้ผมไม่รู้ว่าต้าร์จะมีชีวิตยังไง แต่ชีวิตของเขาจะยังคงอยู่ในสังคมไทย เรื่องราวของเขา วิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา จะทำให้เขายังคงมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยในตอนนี้” 

 

วันเฉลิมไม่ใช่คนแรก และไม่ใช่คนเดียวที่ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทย ด้านพริษฐ์เองได้เผยว่า วันเฉลิมคือคนที่สอนให้เขาสร้างสัญลักษณ์ และสัญลักษณ์นั้นยังคงอยู่เสมอมา 

 

“ต่อไปสิ่งที่จะพูดถึงพี่ต้าร์อาจไม่ใช่แค่เรื่องการอุ้มหาย แต่พี่ต้าร์เป็นสัญลักษณ์ของการถูกละเมิดสิทธิฯ ด้วยเหตุผลทางการเมืองทั้งปวง

 

“นอกจากพี่เจนครอบครัวพี่ต้าร์ ผมรู้จักน้องชายของคุณ นิสิต จิรโสภณ ซึ่งเขาเป็นแกนนำนักศึกษาสมัย6 ตุลาฯ และถูกลอบสังหารในตอนนั้น และรู้จักลูกชายของคุณทนง โพธิ์อ่าน ที่เป็นผู้นำแรงงานและถูกอุ้มหายเหมือนกัน 

 

“วันนี้แอดมินเพจโดนอุ้มหาย สามสิบปีก่อนหน้านั้นก็มีผู้นำแรงงานอุ้มหาย ก่อนหน้านั้นก็มีผู้นำอุ้มหายโดนฆ่า ผมคิดว่าทุกอย่างคือเรื่องเดียวกัน มันคือความอยุติธรรมเหมือนกัน

 

“สุดท้ายสิ่งที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีกคือการเอาความจริงมาเปิดเผยและการตามหาความจริง ถ้าจู่ ๆ ผมจับคนไปขัง ผมก็จะกลายเป็นอาชญากร ถูกไหม? เพราะทุกคนรู้ว่าผมทำ  แต่ถ้าเรื่องนี้ไม่มีใครรู้ เขาคิดว่าใครไม่รู้ หรือต่อให้รู้ก็ไม่มีใครทำไรเขาได้ ผมก็คาดหวังถ้าเรามีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลหรือมีรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นมา อำนาจเผด็จการก็จะเสื่อมไป 

 

“และผมก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนอุ้มพี่ต้าร์และคนอื่นๆ ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการตรงนี้ และชำระเรื่องเหยื่อความรุนแรงทางการเมือง การอุ้มหายที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ให้หมด  ผมคิดว่าเราจะได้รับรู้กันให้หมดว่า กว่าจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยต้องมีคนเสียเลือดกันไประหว่างนั้น 

 

“ประการที่สองคือจะเป็นการคืนความยุติธรรมให้ผู้สูญเสียไปแล้วและป้องปรามให้ผู้ที่กำลังจะสูญเสีย สุดท้ายเมื่อคนเราเท่ากันต่อหน้ากฎหมาย ความจริงจะเปิดเผยออกมาต่อหน้ากฎหมาย

#พรบทรมานอุ้มหาย จะเป็นการป้องกัน และเมื่อเรามีกฎหมายนี้ ความยุติธรรมจะคืนสู่ผู้เสียหายและครอบครัว”

 

รังสิมันต์ โรม กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้แม้แต่คนที่ไม่สนใจเรื่องการเมืองต้องหันมาพูดถึงเรื่องนี้ และกรณีของวันเฉลิมเอง ก็ได้กลายมาเป็นสิ่งที่จุดประกายแรงผลักดันกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร เขาเล่าว่าเมื่อเขาล่ารายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในตอนที่ร่างพ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ มีส.ส.จำนวนนับร้อยคนที่ร่วมลงชื่อกับเขา ทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล 

 

“พี่ต้าร์ต้องเป็นคนสุดท้าย ทุกคนจะร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

 

โดยในช่วงท้ายของงานได้มีการจุดเทียนแห่งความหวังถึงวันเฉลิมและผู้ถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมคำขอบคุณจากสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ผู้เป็นพี่สาวว่า

 

“เห็นผู้คนมาวันนี้ก็อยากจะร้องไห้นะคะ คนเยอะมาก ทุกคนคือเพื่อนต้าร์ อยากให้ทุกคนรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย อย่างที่บอกว่ายังมีญาติผู้เสียหายอีกหลายคนที่ไม่ใช่เฉพาะต้าร์ แต่วันนี้พูดไม่ออกเลยค่ะ ขอบคุณทุกคนจริง ๆ จากใจ ขอบคุณที่ยืนเคียงข้างกันเสมอ และคิดว่าทุกคนจะยืนเคียงข้างเราตลอดไปกับการค้นหาความจริงของการหายไปของวันเฉลิม

 

“ขอขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจ.. และเป็นเพื่อนวันเฉลิม”  

 

ในฐานะประชาชน คุณสามารถร่วมกันจับตามองการเดินทางของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาโดยสมาชิกวุฒิสภา ณ ขณะนี้ เพื่อให้ได้ออกมาเป็นกฎหมายที่จะคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญหายและครอบครัว และเป็นไปตามหลักสากล

 

และคุณยังสามารถยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวของพวกเขาผ่านข้อความเพื่อผลักดันกฎหมาย ในแฮชแท็ก #พรบอุ้มต้องไม่หาย #พรบต้องไม่หายกฎหมายต้องมี #พรบทรมานอุ้มหาย บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็นธรรม และบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน