ร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ของไทยกับการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก

 

17 พฤศจิกายน 2559

เรื่อง: โฮค์แบง แวนโฮล์ม (Robin Vanholme) อาสาสมัครชาวเบลเยี่ยม
แปล: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

ฉันซื้อไอศกรีมราคาอันละล้านดอลลาร์
โลกเราไม่ได้กลม
ฉันชอบไปเที่ยวที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

 

 

สามประโยคข้างต้นนี้มีอะไรที่เหมือนกัน? คำตอบก็คือคงไม่มีใครพูดแบบนี้ในชีวิตประจำวันแน่นอนเพราะมันไม่ใช่เรื่องจริง ลองจินตนาการต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณโพสต์เรื่องไม่จริงเหล่านี้ลงเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ผลคือก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก

 

แต่ถ้าคุณมาโพสต์เรื่องพวกนี้ในประเทศไทยแล้วทางการดันมองว่าข้อความของคุณเป็นข้อมูลเท็จที่กระทบต่อความมั่นคงแล้วล่ะก็ คุณอาจโดนจับเข้าคุกห้าปีหรือถูกปรับสูงสุด 100,000 บาทตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขใหม่

 

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

 

ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่นี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับก่อนหน้าซึ่งผ่านเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถป้องกันและหาตัวคนมาลงโทษอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เช่น การปลอมแปลง การแฮ็ก การขโมยข้อมูล ฯลฯ ถึงตรงนี้คุณอาจสงสัยว่าแล้ว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้มันไม่ดีตรงไหนในเมื่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็มีกฎหมายแบบนี้เหมือนกัน ปัญหาก็คือการที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จริงๆ แล้วถูกนำมาใช้เพื่อสอดส่องและควบคุมการโพสต์และแชร์ข้อความบนโลกออนไลน์ของประชาชนต่างหาก

 

มาตราที่ 14 ระบุว่า ผู้ใดก็ตามที่นำข้อมูล “อันเป็นเท็จ” เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ต่อความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ หรือประเทศ ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ปัญหาคือเราไม่สามารถรู้ได้ว่าการโพสต์แบบไหนบ้างที่ผิดและไม่ผิดกฎหมาย เพราะคำอธิบายในตัว พ.ร.บ. นั้นแสนจะคลุมเครือและไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งหมายความว่าข้อความเท็จใดๆ ก็ตามที่คุณโพสต์ออนไลน์อาจทำให้คุณติดคุกได้ทั้งนั้นหากถูกมองว่ากระทบความมั่นคง

 

ยิ่งไปกว่านั้น มาตราที่ 20 ยังทำให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยากต่อการเข้าใจกว่าเดิมไปอีก โดยระบุว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่น แต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ก็เข้าข่ายผิดกฎหมายได้เช่นกัน คำถามคือแล้วใครล่ะจะมาตัดสินว่าข้อมูลต่างๆ ผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย? เหมาะสมหรือไม่เหมาะ? คำตอบคือหน่วยงานที่จะมารับผิดชอบเรื่องนี้ก็คือคณะกรรมการที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือพูดง่ายๆ ก็คือรัฐบาลเป็นคนตัดสินนั่นเอง

 

กฎหมายโฟโต้ช็อป

 

มาพูดถึงเรื่องรูปภาพกันบ้าง ตามที่ระบุในมาตรา 16(1) และ 16(2) การครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้น ส่งต่อ ตัดต่อ แต่งเติม หรือดัดแปลงที่อาจจะนำความเสียหายมาสู่ผู้อื่นหรือสาธารณะก็ผิดถือว่ากฎหมายได้เช่นกัน โงนั้น ถ้าคุณคิดจะทำภาพล้อเลียนเจ้าหน้าที่รัฐของไทยขึ้นมา คุณอาจถูกจำคุกสูงถึง 3 ปีและปรับสูงสุด 200,000 บาท และที่แย่กว่านั้น การเก็บรูปภาพหรือข้อมูลใดๆ ที่เป็นเท็จในคอมพิวเตอร์ของคุณโดยไม่ได้อัปโหลดขึ้นอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ถูกจับเช่นกัน ตามเนื้อหาในมาตรา 16(2) และ 14

 

ใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด?

 

แน่นอนว่าทุกคนในประเทศไทยที่ใช้คอมพิวเตอร์คือผู้ได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มที่น่าจะได้รับกระทบเยอะที่สุดหนีไม่พ้นสื่อมวลชน นักคิด หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จริงอยู่แล้วคุณคงไม่โดนจับเพียงแค่โพสต์ว่าโลกแบนหรอก แต่ถ้าคุณเริ่มวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดอะไรที่ไม่เข้าหูรัฐบาล คุณคิดว่ารัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นนี้จะชอบใจหรือเปล่าล่ะ อย่าลืมว่าพวกเขามีสิทธิตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิด และอะไรที่ทำลายความสงบสุขในสังคม

 

การจะดำเนินคดีนั้นแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีหลักฐานเพียงพอ เนื้อหาในมาตรา 18 จึงระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถถอดรหัสลับหรือสั่งให้คุณเปิดเผยรหัสผ่านเพื่อค้นหาข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ของคุณได้ ซึ่งทำให้ความเป็นส่วนตัวของคุณยิ่งตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นไปอีก

 

เสรีภาพในการแสดงออกตกอยู่ในความเสี่ยง

 

การบังคับใช้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้ไม่ใช่เพียงแค่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิความเป็นส่วนตัวเท่านั้น จริงๆ แล้วมันจะไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ได้จริงอีกด้วย จากสถิติปี 2550 ถึง 2554 มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับปัจจุบันกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมทางอินเทอร์เน็ตเพียง 22% เท่านั้น ส่วนอีก 78% เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาททั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าทางการไทยยังคงใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แบบนี้ไปเรื่อยๆ คนที่ก่ออาชญากรรมไซเบอร์ก็จะยิ่งทำงานได้ต่อไปหรือง่ายขึ้นด้วยซ้ำ เพราะรู้ตัวว่าพวกเขาไม่ใช่เป้าหมายของรัฐ แต่ประชาชนทั่วไปต่างหากที่โดนเพ่งเล็ง

 

ต่อไปนี้เป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับภาษาไทยและฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อเดือนเมษายน 2559 และคุณยังสามารถร่วมลงชื่อออนไลน์เรียกร้องให้กฎหมายนี้ถูกพิจารณาภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนกับเราได้ที่นี่