ปฏิบัติการด่วน: (อัปเดต) เด็กผู้ชุมนุมประท้วงตกเป็นเป้าหมายในประเทศไทย

ทางการไทยกำลังดำเนินคดีและคุกคามต่อเด็กนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ "เพชร" ธนกร ภิระบัน นักกิจกรรมรณรงค์ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกศาลตัดสินจำคุก "แซนด์" อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี "จัน" จันทร ต้นน้ำเพชร นักกิจกรรมชนเผ่าพื้นเมืองด้านสิทธิในที่ดิน และ "หยก" ผู้ชุมนุมประท้วงวัย 15 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา

ข้อเรียกร้องของเรา

ร่วมกับเรา: เขียนจดหมายเรียกร้องด้วยถ้อยคำของท่านเองหรือใช้ตัวอย่างจดหมายด้านล่างนี้

นายกรัฐมนตรี

ทำเนียบรัฐบาล

ถนนพิษณุโลก ดุสิต

กรุงเทพฯ  10300 ประเทศไทย

อีเมล: prforeign@prd.go.th

แฟกซ์: 66 2 2283 4249, Twitter: @prdthailand

เรียน นายกรัฐมนตรี

เราเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นเพื่อแสดงความกังวลใจ เนื่องจากรัฐบาลของท่านกำลังดำเนินการเพื่อลงโทษเอาผิดเด็กๆ ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงที่เกิดอย่างกว้างขวางเมื่อปี 2563 รัฐบาลไทยเริ่มใช้กระบวนการทางอาญาเพื่อปราบปรามเด็กอย่างน้อย 284 คนที่ชุมนุมประท้วงโดยสงบ หรือแสดงความเห็นของตน ทางการยังมีการข่มขู่ คุกคาม และติดตามเด็กๆ รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่ออกมาชุมนุมประท้วงโดยสงบ  เรายังกังวลว่าปฏิบัติการของรัฐบาลอาจส่งผลให้เด็กคนอื่นๆ เกิดความหวาดกลัว จนไม่สามารถใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “หยก” “เพชร” ธนกร ภิระบัน “จัน” จันทร ต้นน้ำเพชร และ “แซนด์” เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า มีเด็กหลายร้อยคนที่ถูกลงโทษเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

ช่วงปลายปี 2565 เพชรถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 18 เดือนและสามปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ หลังจากการปราศรัยในการชุมนุมประท้วงสองครั้งขณะที่ยังมีอายุ 17 ปี รวมทั้งยังถูกตัดสินจำคุกสองปีแต่รอลงอาญา เพชรยังถูกดำเนินคดีในข้อหาตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เช่นเดียวกับ “แซนด์” นักกิจกรรมวัย 17 ปี และจัน ทางการได้เริ่มดำเนินคดีอาญาต่อ “แซนด์” จากการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบเมื่อปี 2564 ส่วนจัน นักกิจกรรมชนเผ่าพื้นเมืองด้านสิทธิในที่ดิน ได้ตกเป็นผู้ต้องหาจากการแสดงความกังวลเรื่องชุมชนตนเอง เกี่ยวกับการเข้าถึงที่ดินระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2565 และ “หยก” วัย 15 ปี ถูกกักขังระหว่างวันที่ 29 มีนาคม- 18 พฤษภาคม 2566 และอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการชุมนุมประท้วงโดยสงบเมื่อเดือนตุลาคม 2565

ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง  และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และประกันสิทธิของเด็กที่จะมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้ สิทธิเหล่านี้มีความสำคัญเพื่อช่วยให้เด็กสามารถรณรงค์ในประเด็นสิทธิมนุษยชนและประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองได้

ด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงขอเรียกร้องให้ท่าน

  • ปล่อยตัวเด็กทุกคนที่ถูกกักขังเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
  • ยุติการดำเนินคดีทั้งหมด ถอนคำพิพากษาเอาผิด และหยุดการข่มขู่คุกคามต่อเด็กที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ
  • เคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิของเด็กในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และการแสดงออก
  • แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิดังกล่าว

 

ขอแสดงความนับถือ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ในปี 2563 เยาวชนรวมทั้งนักศึกษาและนักเรียนมัธยมอายุน้อยกว่า 18 ปี เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบหลายครั้งทั่วประเทศไทย การชุมนุมประท้วงเหล่านี้ได้เริ่มจากพื้นที่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยและขยายมาสู่ท้องถนน ทางการไทยตอบโต้ปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยการจับกุมและดำเนินคดีอาญากับผู้จัดและผู้เข้าร่วมการชุมนุมเหล่านี้ โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงที่มุ่งข้อเรียกร้องไปที่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ขบวนการชุมนุมประท้วงที่นำโดยเยาวชน มีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการปฏิรูปประชาธิปไตย และภายหลังได้ยกระดับข้อเรียกร้องไปรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ การปฏิรูปทางสังคม และการยุติการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ การปรับปรุงระบบการศึกษา และความปลอดภัยในสถานศึกษา ผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงยังได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิง ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อย โดยรูปแบบการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนมีหลากหลาย เช่น งานเลี้ยง การโต้วาที แฟลชม็อบ การนั่งประท้วง การแสดงละคร และดนตรีสด การเดินแฟชั่น และงานศิลปะ เยาวชนยังมีการจัดกิจกรรมและการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ชุมนุมมีการใช้การล้อเลียน เสียดสี และภาพจากวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ เพื่อประกอบการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง วัยรุ่นและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมักปรากฏตัวในเครื่องแบบนักเรียนหรือเสื้อผ้าสตรีทแฟชั่น ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นเหล่านี้

เด็กที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบหรือแสดงความคิดเห็นของตนในประเด็นทางสังคมและการเมืองผ่านการปราศรัยบนเวทีหรือบนโลกออนไลน์ ต้องเผชิญการจับกุมคุมขัง กระบวนการทางกฎหมายที่ใช้เวลานาน การข่มขู่ คุกคาม และการสอดแนม และการติดตาม เด็กส่วนใหญ่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนข้อห้ามการรวมตัวในที่สาธารณะที่รัฐบาลประกาศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งกำหนดบทลงโทษจำคุก 2 ปีและ/หรือปรับ แม้ปัจจุบันจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่เด็กยังต้องเผชิญข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่าด้วยความผิดฐานยุยงปลุกปั่น มาตรา 112 ระบุ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี  ส่วนมาตรา 116  ระบุห้ามการกระทำ “(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” และกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

ในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 “หยก” (ปิดชื่อนามสกุลเพื่อปกป้องอัตลักษณ์) เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขัง และชุมนุมประท้วงกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ อีกสามเดือนต่อมา ทางการได้มีหมายเรียกให้เธอไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 หยกได้ยื่นหนังสือเพื่อขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 9 เมษายน 2566 ด้วยเหตุผลด้านการศึกษา อย่างไรก็ตาม ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้ออกหมายจับโดยระบุว่า ศาลมีความเห็นว่าเนื่องจากเธอได้เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงอีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นเพียงการ “ประวิงเวลา” โดยไม่มีความจำเป็นทางด้านการศึกษาอย่างแท้จริง อันเป็นเหตุให้สามารถเลื่อนการเข้าพบเจ้าพนักงานได้ เธอยังถูกดำเนินคดีเนื่องจากการขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368  และละเมิดพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ในวันที่ 28 มีนาคม 2566 ตำรวจจับกุมหยกโดยไม่มีการแสดงหมายจับ และนำตัวไปที่สถานีตำรวจใจกลางกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เธอกำลังติดตามสถานการณ์การจับกุมเพื่อนนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งอยู่ ต่อมาเธอถูกส่งตัวไปควบคุมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิง จนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2566

“เพชร” ธนกร ภิระบัน  นักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจากกรุงเทพฯ ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดในสองคดีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม 2565 ตามลำดับ ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุมที่จัดขึ้นโดยสงบที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายนและธันวาคม 2563 เพชรเป็นเด็กคนแรกที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ และต้องโทษด้วยการนำตัวเข้าไปรับ “การฝึกอบรม” ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ส่วนในอีกคดีหนึ่ง ศาลได้ตัดสินรอลงอาญาโดยกำหนดเงื่อนไขสำหรับการคุมประพฤติ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการฟ้องข้อหาเพิ่มเติมกับเพชรด้วยความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“จัน” จันทร ต้นน้ำเพชร นักกิจกรรมชนเผ่าพื้นเมืองด้านสิทธิในที่ดิน ชาวกะเหรี่ยง อายุ 18 ปี กำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนในกรณีฝ่าฝืนข้อห้ามช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินจากการเข้าร่วมชุมนุมเมื่อเดือนมกราคม 2564 ขณะที่จันอายุ 17 ปี จันได้กล่าวปราศรัยในการนั่งประท้วงเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลของชุมชนของตัวเอง โดยเธอได้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงในฐานะตัวแทนเสียงของสมาชิกชุมชนที่พูดไทยไม่ได้ สมาชิกในชุมชนของจันต้องเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ เช่น การบังคับให้สูญหายของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ที่มีเหตุจากการทางการบังคับไล่รื้อ และโยกย้ายที่อยู่อาศัยของชุมชนออกจากที่ดินบรรพบุรุษในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ทางภาคตะวันตกของไทย

“แซนด์ (ใช้นามสมมุติเพื่อความปลอดภัย) เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอายุ 17 ปี ที่เข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียมในโรงเรียนและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แซนด์ต้องเผชิญการติดตามและการคุกคามเนื่องจากบทบาทการเป็นนักกิจกรรม และถูกตั้ง 11 ข้อหาจากการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายฉบับอื่นๆ จากการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงโดยสงบ ปัจจุบัน แซนด์ถูกฟ้องดำเนินคดีด้วยข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ ในช่วงปิดภาคเรียน 

 

ภาษาที่ต้องการใช้เขียนถึงผู้รับ: อังกฤษ/ไทย

หรือท่านสามารถเขียนเป็นภาษาของตัวเองก็ได้

โปรดดำเนินการทันทีได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง: 14 กรกฎาคม 2566

ชื่อและสรรพนาม: “เพชร”ธนกร ภิระบัน (เขา), แซนด์ (เธอ), “จัน” จันทร ต้นน้ำเพชร (เธอ), หยก (เธอ)

 

ปฏิบัติการด่วนคืออะไร? ทำไมต้องมี?

‘ปฏิบัติการด่วน’ (Urgent Action) เป็นหนึ่งในวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทั่วโลก เช่น นักโทษทางความคิด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ถูกทรมาน ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้ที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกส่งตัวกลับประเทศ และอื่นๆ

ผู้ประสานงานในแต่ละประเทศจะรับปฏิบัติการด่วนจากสำนักงานเลขาธิการใหญ่ ณ กรุงลอนดอน แล้วกระจายไปยังสมาชิกเครือข่ายปฏิบัติการด่วน (Urgent Action Network) จากนั้นสมาชิกแต่ละคนจะเขียนจดหมาย อีเมล แฟ็กซ์ ข้อความ หรือแม้แต่โทรศัพท์ไปยังรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อผู้ที่กำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ข้อมูลในปฏิบัติการด่วนของเรามีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากล ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการเสาะหาและตรวจสอบข้อมูลอย่างรัดกุม ตลอดจนมีความระมัดระวังอย่างมากในการนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ 

ปฏิบัติการด่วนเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้คนธรรมดาๆ สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนสามารถช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศได้จริงอีกด้วย 

นี่คือคลิปวิดีโออธิบายปฏิบัติการด่วน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร

155 รายชื่อ
เป้าหมาย 2000

Take Action Now

ฉันยินดีรับข่าวสาร งานรณรงค์ การระดมทุน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของแอมเนสตี้*
ฉันอายุต่ำกว่า 18 ปี.

*แอมเนสตี้รักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวในข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ ซึ่งสามารถศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลและวิธีการที่เราใช้ข้อมูลของคุณเพิ่มเติมได้จากนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลของเราที่นี่