ปฏิบัติการด่วน: พี่สาววันเฉลิมถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากทวงถามความยุติธรรมให้ครอบครัว

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ยังคงต่อสู้และเรียกร้องสิทธิเพื่อให้มั่นใจว่าทางการกัมพูชาและไทยได้ทำการค้นหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของน้องชายของเธอ หลังจากที่เขาถูกลักพาตัวไปขณะกำลังคุยโทรศัพท์กับเธอในปี 2563 ทางการไทยได้ตั้งข้อกล่าวหาจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของเธอ ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการควบคุมการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่ทางการไทยได้ใช้ปราบปรามผู้เห็นต่างเธอมีกำหนดการพิจารณาคดีในศาลในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2565 และหากมีการดำเนินคดีและพบว่ามีความผิดจะต้องโทษจำคุกสูงสุดสี่ปีสำหรับการพิจารณาคดีอาญาสองคดี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อสิตานัน และขอให้มีการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน

ข้อเรียกร้องของเรา

ปฏิบัติการ: เขียนจดหมายเรียกร้องโดยใช้ถ้อยคำของท่านเอง หรือใช้ตัวอย่างจดหมายดังนี้

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

กระทรวงยุติธรรม 404 ถ.แจ้งวัฒนะ

แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่กรุงเทพมหานคร 10210

อีเมล์: Somsak.t@moj.go.th

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เราเสียใจที่รัฐบาลของท่านกำลังดำเนินคดีอาญาต่อสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพียงเพราะเธอใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และยังรู้สึกไม่สบายใจกับรายงานที่อาจบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่อาจระบุว่าเธอเป็นเป้าหมายที่ต้องเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

การดำเนินคดีกับเธอภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งถูกนำมาใช้ในการควบคุมการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 เธอถูกตั้งข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 2 คดี โดยคดีแรก จากการไปร่วมชุมนุม #ม็อบ5กันยา ที่ แยกอโศก เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 เพื่อถ่ายทอดความอยุติธรรมที่ตนเองได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเหยื่อการบังคับสูญหาย และอีกคดีจากไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเรียกร้องประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 

ในเดือนเมษายน 2565 องค์กรภาคประชาสังคมแห่งหนึ่งรายงานว่า ชื่อและรายละเอียดส่วนบุคคลของเธอปรากฏอยู่ในรายการเฝ้าระวังของกองกำลังความมั่นคงของไทย และเป็นไปได้ว่าจะส่งต่อให้ตำรวจท้องที่ ซึ่งอาจหมายความว่าเธออยู่ภายใต้การสอดส่องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมารณรงค์ให้มีการสอบสวนการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ น้องชายของเธอ โดยบุคคลไม่ทราบฝ่ายที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบชะตากรรมและที่อยู่ของเขา การดำเนินคดีกับสิตานันเป็นผลมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของเธอเท่านั้น และกำลังขัดขวางการณรงค์เพื่อตามหาความเป็นธรรมให้กับน้องชายและครอบครัวของเธอ รวมทั้งกำลังขัดขวางการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งในประเทศไทยด้วย

เราจึงขอให้รัฐบาลของท่าน

  • ยุติข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และบุคคลอื่นที่ตกเป็นเป้าหมายของการใช้อำนาจฉุกเฉินและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับการทำงานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน และตรวจสอบรายงานที่ว่า เธออาจถูกสอดแนมโดยเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
  • ให้หลักประกันว่าจะมีการนำร่างกฎหมายที่จะกำหนดโทษทางอาญาต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมานมาใช้โดยทันที และต้องสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงการยอมรับสิทธิของครอบครัวผู้เสียหาย
  • ทางการไทยต้องดำเนินการสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่นๆ ในภาคประชาสังคมสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ โดยไม่มีการข่มขู่ คุกคาม และการฟ้องร้องดำเนินคดี

 

ขอแสดงความนับถือ

ข้อมูลเพิ่มเติม

การสนทนาทางโทรศัพท์ครั้งสุดท้ายของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์กับน้องชายของเธอ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ถูกขัดจังหวะขึ้นเมื่อเขาถูกลักพาตัวโดยบุคคลปริศนาในกัมพูชา ในขณะที่เธอพยายามตามหาความยุติธรรมให้กับน้องชายของเธออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และยังไม่มีผู้ใดทราบถึงชะตากรรมและที่อยู่ของเขา รวมไปถึงสถานการณ์การถูกลักพาตัวของเขาที่ยังไม่ได้รับการชี้แจง มาตรการที่ทางการกัมพูชาและไทยนำมาใช้เพื่อสอบสวนการหายตัวไปของเขานั้น เป็นผลโดยตรงมาจากการผลักดันของสิตานัน กรมสอบสวนคดีพิเศษของประเทศไทยเริ่มดำเนินการการสอบสวนคดีของวันเฉลิมในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 เกือบสองปีหลังจากการลักพาตัวเขา

มาตรการอย่างเป็นทางการในการระบุที่อยู่ของวันเฉลิมถูกจำกัดและล่าช้า ทางการกัมพูชาไม่ได้ดำเนินการอย่างทันท่วงทีและตรวจสอบการหายตัวไปของเขาอย่างละเอียด เป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ นอกจากจะพยายามแสวงหาความยุติธรรมให้กับน้องชายเธอแล้ว เช่นเดียวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกหลายคนในประเทศไทยทำให้ตอนนี้สิตานันถูกบังคับให้ต้องอุทิศเวลาและทรัพยากรของเธอเพื่อปกป้องตัวเองจากการดำเนินคดีอาญาที่ไม่สมควร ต่อการใช้สิทธิของเธออย่างสันติและเพื่อตรวจสอบว่าเธอถูกสอดส่องโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

สิตานันตัดสินใจที่จะส่งเสียงเพื่อช่วยเหลือญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหายคนอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่คล้ายคลึงกันเพื่อที่จะได้มาซึ่งความยุติธรรมและเพื่อที่จะค้นหาชะตากรรมและที่อยู่ของสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาหลังจากที่พวกเขาหายตัวไป เธอได้เข้าร่วมการรณรงค์ของภาคประชาสังคมเพื่อเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยผ่านร่างกฎหมายที่ล่าช้าที่จะกำหนดโทษทางอาชญากรรมของการบังคับให้บุคคลสูญหายและการทรมาน กฎหมายฉบับนี้อาจนำไปสู่การเสริมสร้างมาตรการในการสืบสวนและป้องกันผู้ที่คาดว่าจะถูกบังคับให้สูญหายทั้งในและนอกประเทศไทย

การดำเนินคดีอาญาคดีแรกกับเธอเริ่มขึ้นหลังจากเธอได้ปราศรัยสนับสนุนรัฐสภาไทยผ่านกฎหมายต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ในการชุมนุมอย่างสงบเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งจัดขึ้นที่สี่แยกอโศก กรุงเทพมหานคร ต่อมาตำรวจได้ดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับสิตานัน และบุคคลอื่น ๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า การรวมกลุ่มของคนมากกว่า 25 คน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นอกจากนี้ เธอยังถูกแจ้งข้อหาว่ารวมตัวกับนักกิจกรรมสิบกว่าคนในวันสิทธิมนุษยชนสากล ด้านหน้าองค์การสหประชาชาติในกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะยื่นคำร้องเกี่ยวกับความกังวลด้านสิทธิมนุษยชนในกรณีของเธอที่เกี่ยวกับวันเฉลิม ตำรวจเริ่มแยกดำเนินคดีอาญากับเธอและอีกห้าคน หากถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้ง 2 ข้อหา สิตานันต้องโทษจำคุกสูงสุดสี่ปี และปรับไม่เกิน 80,000 บาท (ประมาณ 2,250 ดอลลาร์สหรัฐ)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เก็บข้อมูลด้วยข้อกังวลว่านักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง นักเรียน และเยาวชน ได้ตกเป็นเป้าหมายและถูกคุกคามโดยทางการไทยภายใต้อำนาจฉุกเฉินในสถานการณ์โรคโควิด 19 ทางการได้ใช้กฎระเบียบเหล่านี้อย่างเลือกปฏิบัติและได้เปิดกระบวนการดำเนินคดีอาญาที่ไม่มีมูลกับผู้คนที่ใช้สิทธิของตนอย่างสงบ รวมถึงการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยและการปฏิรูปที่มีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ในจำนวนนี้รวมถึงบุคคลที่ยื่นคำร้องต่อสถานทูตกัมพูชาหรือชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้องการสอบสวนเพื่อหาชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิม ก่อนหน้านี้อัยการและศาลได้ยกฟ้องหลายข้อหาภายใต้พระราชกำหนดนี้ โดยระบุว่าบุคคลต่าง ๆ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่ควรถูกดำเนินคดีหรือต้องรับโทษ

 

ภาษาที่ต้องการเพื่อบรรลุเป้าหมาย: ไทย/อังกฤษ หรือภาษาของคุณเอง

กรุณาปฏิบัติการโดยเร็วที่: ก่อนวันที่ 29 สิงหาคม 2565

กรุณาตรวจสอบกับสำนักงานแอมเนสตี้ในประเทศของคุณ หากคุณต้องการส่งคำร้องหลังวันที่กำหนด

ชื่อและคำสรรพนาม: สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (เธอ)

ปฏิบัติการด่วนคืออะไร? ทำไมต้องมี?

‘ปฏิบัติการด่วน’ (Urgent Action) เป็นหนึ่งในวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทั่วโลก เช่น นักโทษทางความคิด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ถูกทรมาน ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้ที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกส่งตัวกลับประเทศ และอื่นๆ

ผู้ประสานงานในแต่ละประเทศจะรับปฏิบัติการด่วนจากสำนักงานเลขาธิการใหญ่ ณ กรุงลอนดอน แล้วกระจายไปยังสมาชิกเครือข่ายปฏิบัติการด่วน (Urgent Action Network) จากนั้นสมาชิกแต่ละคนจะเขียนจดหมาย อีเมล แฟ็กซ์ ข้อความ หรือแม้แต่โทรศัพท์ไปยังรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อผู้ที่กำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ข้อมูลในปฏิบัติการด่วนของเรามีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากล ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการเสาะหาและตรวจสอบข้อมูลอย่างรัดกุม ตลอดจนมีความระมัดระวังอย่างมากในการนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ 

ปฏิบัติการด่วนเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้คนธรรมดาๆ สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนสามารถช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศได้จริงอีกด้วย 

นี่คือคลิปวิดีโออธิบายปฏิบัติการด่วน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร

359 รายชื่อ
เป้าหมาย 2000

Take Action Now

ฉันยินดีรับข่าวสาร งานรณรงค์ การระดมทุน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของแอมเนสตี้*
ฉันอายุต่ำกว่า 18 ปี.

*แอมเนสตี้รักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวในข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ ซึ่งสามารถศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลและวิธีการที่เราใช้ข้อมูลของคุณเพิ่มเติมได้จากนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลของเราที่นี่