ปฏิบัติการด่วน: ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วง

นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน  2565 นักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง 2 คนเริ่มประท้วงด้วยการอดอาหาร เพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ทางการได้ดำเนินคดีอาญากับทั้งสองคนและผู้ต้องหาอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการประกันตัวออกไปแล้วแต่ถูกกักตัวอยู่ในบ้าน จากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นในที่สาธารณะ พันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองอย่างเป็นผลต่อสิทธิมนุษยชนในเสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และลดการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาให้น้อยสุด บุคคลทั้งสามต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันที และต้องมีการยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด

ข้อเรียกร้องของเรา

ปฏิบัติการ: เขียนจดหมายเรียกร้องโดยใช้ถ้อยคำของท่านเอง หรือใช้ตัวอย่างจดหมายดังนี้

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

กระทรวงยุติธรรม

เลขที่ 404 ถนนแจ้งวัฒนะ 

แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ 

กรุงเทพมหานคร 10210

อีเมล์: Somsak.t@moj.go.th

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

เรากังวลว่ารัฐบาลไทยกำลังควบคุมตัวผู้คนโดยพลการ จากการที่นักกิจกรรมทั้งสามคนได้ใช้สิทธิมนุษยชนของตนโดยสงบ การดำเนินคดีอาญาของรัฐต่อทั้งสามคนอาจส่งผลให้พวกเขาได้รับโทษจำคุกหลายสิบปีหรืออาจถึงตลอดชีวิต และยังถูกปฏิเสธที่จะได้รับสิทธิการประกันตัว รัฐยังคงใช้วิธีการในการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดจนเกินกว่าเหตุต่อผู้คนจำนวนมาก

เราเสียใจที่รัฐปฏิเสธไม่ให้นักกิจกรรมได้รับสิทธิในการประกันตัว รวมถึง บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ครูสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ และใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ นักศึกษาปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 บุคคลทั้งสองได้เริ่มการอดอาหารตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 เพื่อประท้วงการควบคุมตัว นอกจากนั้น ศาลยังได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวของ ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ให้กักตัวอยู่แต่ในบ้าน หลังถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 36 วัน ณัฐนิชต้องพลาดโอกาสสอบในมหาวิทยาลัยจากการควบคุมตัวครั้งนี้ บุคคลทั้งสามถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายในข้อหายุยงปลุกปั่นและหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพียงเพราะการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสงบในการทำโพล และการแลกเปลี่ยนความเห็นของตนทางออนไลน์ 

พันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย กำหนดให้รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาให้น้อยสุด รัฐบาลยังให้คำมั่นจากข้อเสนอแนะในกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระ (Universal Periodic Review) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกระบวนการคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ คณะทำงานว่าด้วยการคุมขังโดยพลการแห่งสหประชาชาติยังมีความเห็นว่า ในทางปฏิบัติ รัฐ ยังคงใช้การดำเนินคดี และควบคุมตัวบุคคลโดยพลการกับผู้คนที่เพียงต้องสงสัยในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการปฏิเสธไม่ให้ได้รับสิทธิในการประกันตัวซึ่งเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

 เราจึงขอเรียกร้องให้ท่าน 

  • ปล่อยตัวและ/หรือยกเลิกข้อกล่าวหา และให้ยกเลิกเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิของตนโดยสงบ และให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใดๆ ต่อนักกิจกรรม

  • ในระหว่างรอการปล่อยตัวบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนโดยสงบ ให้การประกันว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม  

  • แจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ 

 

ขอแสดงความนับถือ

ข้อมูลเพิ่มเติม

เนติพรและณัฐนิชถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ศาลได้ปฏิเสธคำขอประกันตัวหลายครั้ง จนทั้งสองคนได้เริ่มการอดอาหารตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 เพื่อประท้วงการควบคุมตัว ขณะที่ทานตะวันอยู่ได้รับการประกันตัวแต่ยังถูกกักตัวในบ้าน หลังได้ประท้วงด้วยการอดอาหารเป็นเวลา 36 วัน เนื่องจากทางการได้เพิกถอนการประกันตัวเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565

ในวันที่ 10 มีนาคม 2565 ตำรวจได้เริ่มดำเนินคดีอาญากับเนติพร ณัฐนิช และทานตะวัน จากการสำรวจความเห็นของผู้มาซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 มีการออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน และได้ให้ประกันตัว นักกิจกรรมทั้งสามคนและบุคคลที่เกี่ยวข้องขอให้ประชาชนทั่วไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสั่งปิดถนนระหว่างมีขบวนเสด็จ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีอาญาต่อทั้งสามคนตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกระหว่าง 3 - 15 ปี สำหรับ “ผู้ใดที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และห้ามไม่ให้บุคคล “กระทำการเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมีข้อเสนอแนะให้ทางการไทยแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายเหล่านี้ และกฎหมายอย่างอื่น เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย 

ก่อนหน้านี้ตำรวจยังได้ควบคุมตัวทานตะวันระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2565 โดยเป็นการจับกุมระหว่างที่ตะวันถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเกี่ยวกับการควบคุมจราจรของตำรวจ โดยมีการปิดกั้นรถในถนนด้านนอกของสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมรับขบวนเสด็จ ต่อมาตะวันได้รับการประกันตัวด้วยเงื่อนไขว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ อันเป็นการเสื่อมพระเกียรติต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตำรวจได้เริ่มดำเนินคดีอาญากับเธอตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ และข้อหาในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์  

ช่วงกลางเดือนมีนาคม ตำรวจได้ขอให้ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ ถอนการประกันตัวของนักกิจกรรมทั้งสามคน ทำให้ทั้งสามคนถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณา โดยทานตะวันถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 เมษายน เนติพร และณัฐนิช ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ตำรวจกล่าวหาว่า ณัฐนิชและเนติพรได้ละเมิดเงื่อนไขการประกันตัวด้วยการทำโพล อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 ตำรวจยังกล่าวหาว่า จากการนำผลโพลไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเป็นการยุยงให้เกิดการรวมตัวและอาจทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และทานตะวันยังอาจทำกิจกรรมต่อไปหากไม่ถูกควบคุมตัวเอาไว้ ที่ผ่านมาทางการได้ปฏิเสธคำขอประกันตัวของทั้งสามคนหลายครั้ง โดยได้มีการปล่อยตัวทานตะวันให้มากักตัวที่บ้านเป็นเวลา 30 วัน หลังสุขภาพอ่อนแอลงมากเนื่องจากการประท้วงด้วยการอดอาหาร

ทางการไทยได้มีการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการชุมนุมโดยสงบ และการอภิปรายทางออนไลน์ นับแต่เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยที่มีความสงบเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เจ้าหน้าที่ยังใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาคลุมเครือเกี่ยวกับความมั่นคง สถาบันกษัตริย์ และความผิดด้านคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือเพื่อการปราบปราม และได้ตีความว่าการใช้สิทธิอย่างสงบเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย หรือเป็นความผิดต่อสถาบันกษัตริย์ และต่อมาได้มีการดำเนินคดีอาญากับนักกิจกรรม ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต  

แกนนำผู้ชุมนุมประท้วงยังมักถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาโดยพลการเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของพวกเขา ปัจจุบันศาลยังได้กำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดมากขึ้น เท่ากับเป็นการจำกัดอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง การแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งข้อกำหนดให้พำนักอาศัยอยู่แต่ในบ้านนานถึง 24 ชั่วโมงต่อวัน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาล และให้ติดกำไลอีเอ็ม 24 ชั่วโมงต่อวัน  

ในระหว่างปี 2565 ทางการไทยได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมเนื่องจากการเคลื่อนไหวโดยสงบ เจ้าหน้าที่ยังใช้การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นกับบุคคลที่เข้าร่วมในกิจกรรม ซึ่งทางการมองว่าเป็นการแสดงความเห็นต่าง รวมทั้งคนที่เป็นเด็ก และมีการใช้มาตรการต่างๆ มากขึ้นเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ และการชุมนุมโดยสงบ และยังได้กำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ   

 

ภาษาที่ควรใช้ในการเขียน: อังกฤษ ไทย หรือภาษาของท่านเอง 

กรุณาปฏิบัติการโดยเร็วสุด ก่อนวันที่ 9 สิงหาคม 2565

กรุณาตรวจสอบกับสำนักงานแอมเนสตี้ในประเทศของท่าน หากส่งจดหมายหลังวันที่กำหนด   

ชื่อและสรรพนาม: บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม, ใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์, ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์  

ลิงก์ไปที่ปฏิบัติการด่วนก่อนหน้านี้: ไม่มี 

ปฏิบัติการด่วนคืออะไร? ทำไมต้องมี?

‘ปฏิบัติการด่วน’ (Urgent Action) เป็นหนึ่งในวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทั่วโลก เช่น นักโทษทางความคิด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ถูกทรมาน ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้ที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกส่งตัวกลับประเทศ และอื่นๆ

ผู้ประสานงานในแต่ละประเทศจะรับปฏิบัติการด่วนจากสำนักงานเลขาธิการใหญ่ ณ กรุงลอนดอน แล้วกระจายไปยังสมาชิกเครือข่ายปฏิบัติการด่วน (Urgent Action Network) จากนั้นสมาชิกแต่ละคนจะเขียนจดหมาย อีเมล แฟ็กซ์ ข้อความ หรือแม้แต่โทรศัพท์ไปยังรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อผู้ที่กำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ข้อมูลในปฏิบัติการด่วนของเรามีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากล ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการเสาะหาและตรวจสอบข้อมูลอย่างรัดกุม ตลอดจนมีความระมัดระวังอย่างมากในการนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ 

ปฏิบัติการด่วนเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้คนธรรมดาๆ สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนสามารถช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศได้จริงอีกด้วย 

นี่คือคลิปวิดีโออธิบายปฏิบัติการด่วน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร

2466 รายชื่อ
เป้าหมาย 3000

Take Action Now

ฉันยินดีรับข่าวสาร งานรณรงค์ การระดมทุน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของแอมเนสตี้*
ฉันอายุต่ำกว่า 18 ปี.

*แอมเนสตี้รักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวในข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ ซึ่งสามารถศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลและวิธีการที่เราใช้ข้อมูลของคุณเพิ่มเติมได้จากนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลของเราที่นี่