People on the move (refugee)

Overview

นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปีพ.ศ.2488 โลกของเราก็เผชิญกับปัญหาผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 2558 เท่าที่มีการเก็บข้อมูลของสหประชาชาติพบว่า ปลายปี 2558 มีผู้คนจำนวนกว่า 65 ล้านคนที่ถูกบังคับให้ต้องพลัดพรากจากบ้านของพวกเขาด้วยเหตุแห่งความขัดแย้ง การถูกประหัตประหาร ความรุนแรงที่ทำในวงกว้าง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) ระบุว่า ปัจจุบันโลกเรามีผู้ลี้ภัยถึง 21.3 ล้านคน และ 49% ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งมีความเปราะบางมากกว่าผู้ลี้ภัยอื่น ๆ


ในประเทศไทยเอง มีผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งแสนคนอาศัยอยู่ในค่ายพักพิง 9 แห่งในจังหวัดชายแดนระหว่างไทยและพม่า โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยหนีการสู้รบมาจากประเทศพม่า นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยในเขตเมืองที่พักพิงอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกกว่า 9,000 คน


จำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายนี้ ถือเป็นวิกฤตของโลกที่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจที่ร่ำรวยต้องร่วมกันแสดงความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ในระหว่างการลี้ภัยได้อย่างปลอดภัยและอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

 

Who are refugees ? 

ตามอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (the 1951 Refugee Convention) ได้นิยามความหมายของ ผู้ลี้ภัย (Refugee) ไว้ว่า ผู้ลี้ภัยคือบุคคลที่จำเป็นต้องเดินทางทิ้งถิ่นฐานประเทศของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวจากการที่จะถูกประหัตประหารด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ หรือศาสนา หรือสัญชาติ หรือเพราะเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมหรือความคิดเห็นทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่สามารถที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐที่ตนเป็นพลเมืองได้

ผู้ลี้ภัยโดยมากต้องลี้ภัยเพราะในประเทศของพวกเขามีเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ เกิดขึ้น อันได้แก่ สงครามกลางเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การขัดแย้งทางศาสนา การเหยียดเพศในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งหากพวกเขายังอยู่ในประเทศของตัวเองต่อไป พวกเขาอาจจะประสบกับเหตุอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยสถานการณ์บังคับให้พวกเขาเดินทางออกจากประเทศของตนเองเพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดด้วยการลี้ภัยไปยังประเทศอื่น
ความแตกต่างของผู้ลี้ภัยและคนต่างด้าวอื่น ๆ

 

ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย VS. ผู้ลี้ภัย
ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) ต่างจากผู้ลี้ภัยตรงที่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยยังมิได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการตามอนุสัญญาฯว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494


แรงงานต่างด้าว VS. ผู้ลี้ภัย
แรงงานต่างด้าวแตกต่างจากผู้ลี้ภัยตรงที่ว่า แรงงานต่างด้าวคือคนที่เดินทางออกนอกประเทศของตนโดยสมัครใจเพื่อที่จะไปทำงานในประเทศอื่น ๆ เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขา ขณะที่ผู้ลี้ภัยถูกสถานการณ์ทางการเมืองหรือทางสังคมในประเทศตนเองบังคับให้พวกเขาต้องหลบหนีออกจากประเทศ


เหยื่อการค้ามนุษย์ VS. ผู้ลี้ภัย
ด้วยสถานการณ์ความยากลำบากในการหนีออกนอกประเทศ มีหลายกรณีที่ผู้ที่แสวงหาที่ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยตัดสินใจร่วมเดินทางกับกลุ่มลักลอบขนคนเข้าเมือง เพราะเชื่อว่าจะได้เดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่พวกเขากลับตกไปเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยอาจถูกทำร้ายร่างกายจนอาจถึงแก่ชีวิต หากไม่ยอมทำตามคำสั่งของผู้ที่ทำการลักลอบเข้าเมือง และหากพวกเขาถูกทางการจับตัวไป พวกเขาอาจจะถูกดำเนินคดีในลักษณะลักลอบเข้าเมือง และถูกกักขังและส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง

 

Concerns 

แน่นอนว่าการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ยั่งยืนคือ การยุติสงครามและความขัดแย้งที่รุนแรงต่าง ๆ หากแต่การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานมาก ในแต่ละวัน มีคนต้องลี้ภัยจำนวนกว่า 34,000 คนในระหว่างการลี้ภัย ผู้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมาย อันได้แก่

การเดินทางลี้ภัยที่อันตรายต่อชีวิต
หนทางการลี้ภัยของแต่ละคนนั้นมีได้หลากหลาย บ้างต้องเดินเท้าเป็นเวลาหลายวันเพื่อข้ามเขตแดนไปยังประเทศอื่น บ้างต้องหนีออกจากประเทศด้วยการลงเรือร่วมกับผู้คนอื่น ๆ จำนวนมาก พวกเขาต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางร่างกายและชีวิต ดังที่เห็นในภาพเด็กน้อยผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 3 ขวบ ที่จมน้ำเสียชีวิตและถูกกระแสน้ำพัดมาเกยชายหาดแห่งหนึ่งในตุรกี เนื่องจากประสบเหตุเรือล่ม ขณะที่กำลังพยายามเดินทางเข้าไปยังสหภาพยุโรปตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก

การถูกแสวงหาประโยชน์
มีผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือการค้ายาเสพติด ด้วยความที่พวกเขาหวาดกลัวจากการประหัตประหารในประเทศของตนเองจึงยินยอมที่จะเดินทางไปกลุ่มคนลักลอบเข้าเมือง เพราะเชื่อว่าจะสามารถจะช่วยให้ตนเองเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศอื่นได้ หากแต่เมื่อพวกเขาถูกทางการจับได้ พวกเขาอาจถูกคุมขังไว้ยังสถานกักตัวคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอย่างไม่มีระยะเวลากำหนด หรืออาจจะถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งจะทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตรายที่พวกเขาหนีจากมา ในบางประเทศ ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยเพราะพวกเขาแตกต่างจากพลเมืองในประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางกายภาพหรือวัฒนธรรรมที่แตกต่าง และโดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีกฎหมายภายในให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยโดยเฉพาะ พวกเขาอาจถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการถูกคุกคามทางเพศด้วยเช่นกัน

ตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้ที่ลี้ภัยไปยังประเทศอื่นให้รอดพ้นจากการประหัตประหารที่เกิดขึ้นในประเทศที่ตนเป็นพลเมืองอยู่ได้ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติปี 2494 และพิธีสารเลือกรับว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย (Optional Protocol Relating to the Status of Refugee) ปี 2510 ได้ระบุสิทธิของผู้ลี้ภัยหลายประการ ซึ่งรัฐผู้เป็นภาคีในอนุสัญญาและพิธีสารดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น หากประเทศที่ให้การพักพิงลี้ภัยมีกฎหมายภายในเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเป็นการเฉพาะ ผู้ลี้ภัยต้องได้รับสิทธิและหน้าที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ หากประเทศที่ให้การพักพิงไม่มีกฎหมายภายในกำหนดไว้ ประเทศนั้น ๆ ต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม

 

What is Amnesty International calling for ? 

วิกฤตผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ในฐานะสมาชิกของประชาคมโลกต้องร่วมกันให้ความคุ้มครองทางด้านความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยอย่างเร่งด่วนและทั่วถึง ผู้ลี้ภัยทุกคนควรได้รับการปฏิบัติเหมือนกับบุคคลทั่ว ๆ ไป พวกเขาต้องสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงโอกาสในการตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงศาสนา สัญชาติ หรือเชื้อชาติของพวกเขา

ตั้งแต่ปี 2559 แอมเนสตี้ทั่วโลกได้กำหนดให้ การรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ลี้ภัยเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของขบวนการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยแอมเนสตี้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ร่ำรวย ร่วมกันแสดงความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อวัตถุประสงค์หลักดังต่อไปนี้


1) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยให้สามารถลี้ภัยไปดำเนินชีวิตได้อย่างถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยในประเทศต่าง ๆ ในโลกเพิ่มมากขึ้น
2) เพื่อให้เกิดการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคีในการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น
3) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกร่วมกันส่งเสริมสิทธิในการลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น และยุติการผลักดันส่งกลับ (Refoulement) ในประเทศที่มักมีการปฏิบัติดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยต้องกลับไปเผชิญกับอันตรายต่อชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในประเทศที่พวกเขาลี้ภัยมา

สำหรับประเทศไทย เนื่องด้วยรัฐไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาลี้ภัยในประเทศไทยต้องเผชิญกับการไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศ และเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและถูกคุมขังโดยพลการ รวมทั้งอาจถูกผลักดันส่งกลับ หรือเสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์ หรือ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ ได้ แอมเนสตี้ จึงเรียกร้องให้ทางการไทยแสดงความรับผิดชอบต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นด้วยการกำหนดให้มีกฎหมายภายในเพื่อให้เกิดกระบวนการการขอลี้ภัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และให้รัฐไทยให้ความเคารพสิทธิของผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยโดยการไม่คุมขังผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยโดยพลการ และคุ้มครองให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายของประเทศไทย สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการเข้าถึงการได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน เเละสิทธิในการประกอบอาชีพ และที่สำคัญไทยควรดำเนินการป้องกันและยุติไม่ให้มีการผลักดันส่งกลับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศ

ความก้าวหน้า

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติแนวคิดหลักของข้อเสนอเพื่อสรุปและเริ่มกระบวนการคัดกรองผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่งนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ในการพัฒนาการบริหารจัดการและการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ทางแอมเนสตี้ได้ติดตามพัฒนาการดังกล่าว และยินดีที่จะช่วยสนับสนุนทางการไทยในเรื่องของการพัฒนานโยบายเพื่อให้ไทยสามารถให้ความคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

Key Facts

50

For the first time since the Second World War, more than 50 million people are forcibly displaced. Most because of armed conflict. (UNHCR, 2014)

12.2M

For the first time since the Second World War, more than 50 million people are forcibly displaced. Most because of armed conflict. (UNHCR, 2014)