สิทธิมนุษยชนศึกษา

ภาพรวม

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเลิกทาสในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2448 ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงฝังรากลึก คนไทยจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของตนเองและผู้อื่น ประกอบกับระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชนมากนัก แอมเนสตี้จึงจัดทำห้องเรียนสิทธิมนุษยชนฟรีๆ ให้กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศตลอดทั้งปี ตลอดจนเรียกร้องให้บรรจุสิทธิมนุษยชนศึกษาลงไปในบทเรียนมากขึ้นด้วย

สิทธิมนุษยชนศึกษาคืออะไร?

"สิทธิมนุษยชนศึกษา" คือ กระบวนการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการสิทธิมนุษยชน โดยยึดมปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) กฎกติกา และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมเข้าใจบริบทและปัญหาในสังคมมากขึ้นผ่านมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนศึกษายังรวมถึงการถ่ายทอดและฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อให้สามารถนำไปเผยแพร่และต่อยอดสำหรับการณรงค์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวมได้อีกด้วย

ในหลายประเทศทั่วโลก สิทธิมนุษยชนศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีฝ่ายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาโดยเฉพาะ เพื่อศึกษาข้อมูล และผลิตเนื้อหาและเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงออกแบบกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาในระดับต่าง ๆ มีการสร้างสื่อการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การทำกิจกรรมกับครูและอาจารย์ ผู้ที่เป็นพลังสำคัญของการส่งเสริมการศึกษา การสร้างชมรมหรือกลุ่มกิจกรรมนอกห้องเรียนในสถานศึกษาอย่างเช่น โครงการ Human Rights Friendly School เหล่านี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและให้เกิดความสนใจ รวมถึงเพิ่มพูนแหล่งข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาให้มากขึ้น และที่สำคัญยังมีการทำงานเชิงนโยบายเพื่อผลักดันให้รัฐบาลต่าง ๆ นำสิทธิมนุษยชนศึกษาเข้าไปบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ สิทธิมนุษยชนศึกษายังเป็นส่วนสำคัญในงานรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลด้วยเช่นกัน มีการนำเอากระบวนการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษามาปรับใช้ในงานรณรงค์ประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษาเพื่อสร้างหลักสูตรออนไลน์ (Massive Open Online Courseware (MOOC) เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจในการรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิผู้ลี้ภัย สิทธิการแสดงออก เป็นต้น

สำหรับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาในปี พ.ศ. 2539 เราได้ทุ่มเททำงานเพื่อเพาะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งสิทธิมนุษยชน ผ่านการสนับสนุนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ การบรรยายในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การเยี่ยมห้องเรียนทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การฉายภาพยนตร์และสารคดี การจัดสัมมนา วงคุย นิทรรศการ รวมถึงผลิตสื่อและอุปกรณ์สำหรับสิทธิมนุษยชนศึกษา

สิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้

กระบวนการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะมุ่งตอบจุดมุ่งหมายด้านสิทธิมนุษยชน 5 ประการ ได้แก่

  • เพื่อตั้งคำถามและสามารถระบุต่อต้นเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • เพื่อหลีกเลี่ยง ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ
  • เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม
  • เพื่อสร้างเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตย


ซึ่งกิจกรรมในกระบวนการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษานี้มักมุ่งเน้น

  • ท้าทายและเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด คุณค่าและพฤติกรรม
  • เพิ่มพูนศักยภาพเพื่อการคิดวิเคราะห์
  • สร้างเสริมความตระหนัก
  • ส่งเสริมการยึดมั่นในคุณค่าและการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน
  • การลงมือทำ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมความเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

แอมเนสตี้เรียกร้องอะไร?

แอมเนสตี้เชื่อมั่นว่า สิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยให้ทุกคนได้ตระหนักและเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และนำไปสู่การพัฒนาทักษะและทัศนคติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเคารพและปกป้องศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของคนทุกคนตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และระดับโลก

--

จำนวนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่แอมเนสตี้เคยทำสิทธิมนุษยชนศึกษาด้วย

--

--

--

--