Enforced Disappearance 

Overview

การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การอุ้มหาย” เป็นอีกหนึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ซึ่งหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำ หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่ง สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจในการจับกุม คุมขัง ลักพา หรือลิดรอนเสรีภาพของบุคคล โดยพยายามปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้นๆ

ไม่เพียงแค่ถูกจับและควบคุมตัว เหยื่อมักถูกทรมานด้วยวิธีการที่โหดร้าย ป่าเถื่อนอีกด้วย และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าเศร้าคือ เหยื่อส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการปล่อยตัวและถูกปกปิดชะตากรรม ทำให้สังคม หรือแม้แต่ครอบครัวของพวกเขาไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ และถึงแม้ว่าพวกเขาจะรอดชีวิตออกมากได้ รอยแผลทั้งบนร่างกายและจิตใจก็ยังคงติดตัวเขาไปตลอดชีวิต


ทั้งนี้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ผู้กระทำผิดมักลอยนวลพ้นผิด เป็นการละเมิดต่อบุคคลที่ถูกทำให้สูญหาย บ่อยครั้งที่ผู้สูญหายไม่ได้รับการปล่อยตัวและไม่มีผู้ทราบชะตากรรมของเขาอีกเลย จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดอย่างต่อเนื่องต่อสิทธิมนุษยชนของครอบครัวของเขา ซึ่งไม่มีโอกาสได้ทราบความจริงว่าผู้สูญหายอยู่ที่ไหน


การบังคับบุคคลให้สูญหายได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งคดีที่เป็นที่รู้จัก เช่น คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายที่ว่าความให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่อ้างว่าถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งได้หายตัวไปมากกว่า 10 ปีแล้ว และ คดีของบิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเป็นหนึ่งในพยานคดีที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยยื่นฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ข้อหาเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย บิลลี่ได้หายตัวไปแล้วมากกว่า 4 ปี

สมชาย นีละไพจิตร.jpg

หลังจากความพยายามตลอดหลายปี เราได้เห็นพัฒนาการ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศในการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย จนกระทั้งในปี 2553 ได้มีการบังคับใช้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) เป็นครั้งแรก


สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อวันที่10 มีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา CED ทว่า อนุสัญญานี้ยังไม่มีผบังคับใช้อย่างทางการในประเทศ
และถึงแม้ว่าทางการจะได้ริเริ่มการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่การพิจารณา พ.ร.บ.ฯนี้กลับหยุดชะงัก และยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

 

Concerns

การบังคับบุคคลให้สูญหายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัวต่อสังคมในวงกว้าง การกระทำอันโหดร้ายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศที่ไม่ปลอดภัย เพื่อหยุดยั้งการกระทำต่อทั้งบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ชุมชมและสังคม การบังคับบุคคลให้สูญหายได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน ซึ่งเกิดมากขึ้นกับปัญหาภายใน โดยเฉพาะเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง
ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญของรัฐในการบังคับบุคคลให้สูญหาย คือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ญาติของเหยื่อ พยาน และ ทนายความ และรวมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ เช่น เด็ก และบุคคลพิการ อีกด้วย
การบังคับให้บุคคลสูญหายในทุกๆครั้งนั้นได้ละเมิดสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้ง
- สิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัย
- สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและถูกปฏิบัติหรือลงโทษอย่างโหดร้าย
- สิทธิที่จะไม่ถูกกักขังอย่างไร้มนุษยธรรม
- สิทธิในการได้รับพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
- สิทธิการเป็นบุคคลตามกฏหมาย
- สิทธิในชีวิตครอบครัว

What is Amnesty International calling for ? 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องตลอดมาให้รัฐต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ลงนามและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา CED เท่านั้น แต่ยังต้องกระทำการเพื่อให้อนุสัญญามรผลบังคับใช้ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอต่อทางการดังนี้

  • ต้องสอบสวนการหายตัวไปของผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหายทุกคนในประเทศไทย อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ 
  • สั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหาย ตลอดจนนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
  • ทำให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจนด้วยการผ่าน ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ
  • ต้องไม่มีการควบคุมตัวอย่างลับ ๆ หรือควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการในทุกรูปแบบ และต้องมีการแจ้งที่อยู่และชะตากรรมของผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลใดที่กระทำไปโดยการให้อำนาจ การสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ
  • รับประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่