ศาลยกฟ้องคดีต่อนักข่าวภูเก็ตหวาน กรณีเผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ของกองทัพเรือ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าการยกฟ้องคดีต่อนักข่าวสองท่านในไทยในการพิจารณาคดีที่มีการนำบางส่วนของบทความเกี่ยวกับการค้ามนุษย์มาตีพิมพ์ซ้ำ นับเป็นแนวโน้มที่น่ายินดีสำหรับเสรีภาพในการแสดงออก แต่อันที่จริงบุคคลทั้งสองไม่ควรต้องเข้ารับการไต่สวนตั้งแต่แรก

 

                ศาลพิพากษาว่า Alan Morison บรรณาธิการ และชุติมา สีดาเสถียร นักข่าวของสำนักข่าวออนไลน์ภูเก็ตหวาน ไม่มีความผิดตามข้อหาหมิ่นประมาทและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ลงโทษการนำเข้าข้อมูลดิจิตัลอันเป็นเท็จในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลที่สามหรือสาธารณะ

 

                กองทัพเรือไทยเป็นผู้ฟ้องคดีนี้ โดยเป็นผลมาจากข้อความเพียงหนึ่งย่อหน้าซึ่งคัดลอกมาจากบทความที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ของสำนักข่าวรอยเตอรส์ ซึ่งได้สอบสวนบทบาทของประเทศไทยที่มีต่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา และตีพิมพ์เมื่อปี 2556  

 

                Josef Benedict  ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การยกฟ้องคดีต่อผู้สื่อข่าวทั้งสองท่านเป็นคำวินิจฉัยในเชิงบวก แต่อันที่จริงพวกเขาไม่ควรต้องเข้ารับการไต่สวนตั้งแต่แรกหรือเผชิญความเสี่ยงที่อาจถูกจำคุกหลายปี โดยการดำเนินคดีนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงการเพิกเฉยต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการไทย

 

                “ข้อบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีลักษณะกำกวม และได้ถูกใช้อย่างมิชอบเเพื่อป็นเครื่องมือปิดปากและคุกคามสื่ออิสระ กฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยข้อบัญญัติซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรได้รับการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

 

                “การฟ้องร้องนี้ถือเป็นปฏิบัติการครั้งล่าสุดที่มีมาอย่างยาวนานในการโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกและสำนักข่าว นับแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ทางการไทยต้องยุติการแสดงความสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนที่ปราศจากความจริงใจ ต้องยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างมิชอบด้วยกฎหมายโดยทันที รวมทั้งยกเลิกข้อกล่าวหาทางอาญาและบทลงโทษจำคุกต่อนักโทษทางความคิดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น”