10 ประเด็นสำคัญของปัญหาสิทธิมนุษยชนในเวเนซุเอลา

14 มีนาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แปลโดย Smiling Sun

ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่กลืนกินเวเนซุเอลาในไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ทำลายวิถีชีวิตของประชากรนับล้านคน และนี่คือประเด็นสำคัญที่คุณควรรู้

  

1. การใช้ความรุนแรงอย่างเกินเหตุ

จุดกำเนิดของความไม่สงบในเวเนซุเอลาเริ่มมาจากเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2017 เมื่อศาลฎีกาได้เข้ายึดอำนาจจากสภาผู้แทนราษฎรหลังได้รับการสนับสนุนโดยประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงที่รัฐบาลของมาดูโรปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างผิดกฎหมาย โดยในระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2017 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 120 คน ปาดเจ็บกว่า 1,958 คน และผู้ประท้วงอีกกว่า 5,000 คนถูกคุมขัง

 

2. การประท้วงเป็นวงกว้าง

 

ในปี 2018 ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองเวเนซุเอลาเปิดเผยตัวเลขว่ามีผู้ออกมาร่วมประท้วงถึง 12,715 คนทั่วประเทศ โดยการชุมนุมยังคงมีอยู่ในปี 2019 หลังประธานสภาผู้แทนราษฎร ฮวน ไกวโดเรียกร้องให้มีการชุมนุมเพื่อต่อต้านมาดูโ

รายงานของแอมเนสตี้เรื่อง “คืนแห่งความหวาดกลัว” ได้เปิดเผยถึงการที่กองกำลังเวเนซุเอลาและกลุ่มพลเรือนติดอาวุธที่รัฐบาลให้การสนับสนุนใช้กำลังบุกเข้าไปในบ้านเรือนประชาชนเพื่อข่มขู่ไม่ให้พวกเขาไปร่วมการชุมนุม

 

3. การปราบปรามที่ทวีคูณ

 

ทางการได้มีการใช้นโยบาลการปราบปรามอย่างเป็นระบบมาตลอด แต่เหตุการณ์ช่วงหลังๆได้แสดงให้เห็นถึงการปราบปรามที่หนักมากขึ้น

ในรายงาน “จะอยู่อย่างนี้ไม่ได้” ทางแอมเนสตี้ได้เปิดโปงการที่หน่วยรักษาความปลอดภัยที่สนับสนุนโดยทางการจงใจใช้ความรุนแรงเพื่อสังหารประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและถูกกีดกันจากสังคมภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นการ “ต่อต้านอาชญากรรม”

ตั้งแต่ต้นปี 2019 มาก็มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมเข้ามาอย่างนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนที่มีกลุ่มติดอาวุธผ่ายมาดูโรรวมตัวกัน องค์กรประชาสังคมเวเนซุเอลารายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงในปีนี้แล้ว 41 ราย

 

4. แม้แต่เด็กๆ ก็โดนขัง

 

ทางการเวเนซุเอลาใช้อำนาจยุติธรรมเพื่อรังแกผู้ที่เห็นต่างอย่างผิดกฎหมาย องค์กรโฟโร เพนอลในเวเนซุเอลารายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างผิดกฎหมายถึง 988 คนในระหว่างวันที่ 21 ถึง 31 มกราคม 2019 โดย 137 คนเป็นเด็กและเยาวชน และมีอยู่ 10 คนที่ยังคงถูกควบคุมตัว

นอกจากนี้ยังมีรายงานการทรมานและรังแกผู้ต้องขังด้วย โฟโร เพนอลประมาณตัวเลขผู้ที่ยังถูกกักขังเพราะสาเหตุทางการเมืองอยู่ที่ 942 คน

 

5. พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร

 

ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมมักถูกตัดสินในศาลทหารอันเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติ โดยพวกเขามักจะเผชิญกับข้อหาจำพวก “การซ่องสุมเพื่อก่อกบฎ” และ “จู่โจมผู้เฝ้ายาม” ซึ่งเป็นข้อหาที่เขียนมาเพื่อพลทหาร นี่เป็นอีกหนึ่งหลักฐานความพยายามของรัฐบาลในการปิดปากผู้ไม่สนับสนุน

 

6. การลี้ภัยและอพยพกว่าสามล้านชีวิต

 

สหประชาชาติได้ประมาณตัวเลขว่าตั้งแต่ปี 2015 มีชาวเวเนซุเอลาที่อพยพออกนอกประเทศแล้วกว่าสามล้านคน คิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในบราซิล ชิลี โคลัมเบีย เอลกวาดอร์ และเปรู ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ให้เหตุผลการออกจากประเทศว่าพวกเขาถูกละเมิดสิทธิด้านอาหารและบริการสาธารณะสุข ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนลได้ร้องขอรัฐบาลละตินอเมริกาและแคริบเบียนให้รับผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาไว้ในเขตของตน

 

7. ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก

 

ปัจจุบันได้มีรายงานนับไม่ถ้วนของการละเมิดสิทธิทางการแสดงออก รวมถึงการควบคุมตัวผู้ทำงานสื่อถึง 19 คนที่มีทั้งชาวเวเนซุเอลาและชาวต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรม โดยมีการจับกุมนักข่าวถึง 11 คนในเวลาเพียงสัปดาห์เดียวในเดือนมกราคม 2019

 

8. เศรษฐกิจที่ล้มครืน

 

สภาผู้แทนราษฎรเวเนซุเอลาเปิดเผยสถิติเงินเฟ้อของปี 2018 ว่าได้พุ่งสูงถึง 1,698,488% กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ประมาณการว่าภาวะเงินเฟ้อรายปีจะขึ้นแตะ 10,000,000%. ภายในปีนี้ ในขณะเดียวกัน รายได้ขั้นต่ำอย่างเป็นทางการของเวเนซุเอลาอยู่ที่ 6 ดอลล่าห์สหรัฐต่อเดือน และตัวเลขนี้คือรายได้ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับ ผลลัพธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงนั่นคือประชาชนจะไม่สามารถซื้อสิ่งจำเป็นต่อยังชีพได้

ภาวะขาดแคลนสิ่งจำเป็นต่อยังชีพเช่นอาหารและยาทำให้ประชากรหลายล้านมีวิถีชีวิตที่ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่ก่อนปี 2013 รัฐบาลเวเนซุเอลาได้มีการพัฒนาสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมไปในทางที่ดีขึ้น แต่ความคืบหน้าเหล่านั้นก็ถอยกลับไปหมดสิ้น

 

9. รัฐบาลที่ปฏิเสธความจริง

 

ประธานาธิบดีมาดูโรยังคงปฎิเสธอย่างแข็งขันต่อสภาวะของประเทศที่กำลังมีปัญหาสิทธิมนุษยชน หนำซ้ำยิ่งกว่าคือการปฏิเสธการขาดแคลนอาหารและยา โดยสถิติที่จัดทำโดยรัฐบาลได้ขัดกับข้อมูลที่จัดทำโดยองค์กรอิสระอย่างชัดเจน

และเพราะการปฏิเสธความขาดแคลน ทางการเวเนซุเอลาจึงไม่ยอมรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากนานาชาติที่เสนอเข้ามาอย่างบ่อยครั้ง โดยการตัดสินใจนี้ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชากรเวเนซุเอลา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

 

10. การคว่ำบาตรที่สร้างความเสียหายของสหรัฐ

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม ทางการสหรัฐอเมริกาได้ออกนโยบายสั่งห้ามการค้าขายน้ำมันดิบและอุปกรณ์ขุดน้ำมันกับเวเนซุเอลา แต่เพราะการที่เศรษฐกิจเวเนซุเอลาพึ่งพิงการค้าน้ำมันเป็นหลักและสหรัฐเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของประเทศ นโยบายนี้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ชีวิตของชาวเวเนซุเอลาย่ำแย่ลงไปอีก