แรงงานพม่าชนะคดีฟาร์มไก่ไม่จ่ายค่าจ้าง

 

ศาลสูงยืนตามคำสั่งของกองสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี สั่งให้ฟาร์มไก่จังหวัดลพบุรี อดีต 1 ในผู้ส่งไก่ให้กับบริษัทเบทาโกร ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,700,000 บาทให้แก่อดีตคนงานพม่าทั้ง 14 คน กรณีไม่จ่ายค่าจ้าง

ศาลสูงยืนตามคำสั่งของกองสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี สั่งให้ฟาร์มไก่จังหวัดลพบุรี อดีต 1 ในผู้ส่งไก่ให้กับบริษัทเบทาโกร ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,700,000 บาทให้แก่อดีตคนงานพม่าทั้ง 14 คน กรณีไม่จ่ายค่าจ้าง

 

ศาลสูงมีคำพิพากษาให้ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรในจังหวัดลพบุรี ซึ่งเคยทำสัญญาส่งไก่ให้แก่บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยแก่อดีตคนงานพม่า 14 คน จำนวน 1,700,000 บาท โดยก่อนหน้านี้ คนงานทั้ง 14 คน ระบุว่า ถูกบังคับใช้แรงงาน และถูกละเมิดสิทธิอื่นๆ ระหว่างที่ทำงานในฟาร์มไก่ดังกล่าวขณะที่ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรยังทำสัญญากับบริษัทเบทาโกร

 

คำตัดสินของศาลสูงสุด ถือเป็นการตัดสินตามคำสั่งของกองสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มธรรมเกษตรชดเชยเงินให้แก่กลุ่มแรงงาน และถือเป็นการยกคำร้องอุทธรณ์ของเจ้าของฟาร์มธรรมเกษตร ที่ต้องการให้ศาลพิจารณายกเลิกไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยโดยอัตโนมัติ

 

กรณีดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจของสื่อทั่วโลกตั้งแต่กลางปี 2559 เนื่องจากแรงงานชาวพม่า 14 คนเปิดเผยกับสื่อต่างชาติและองค์กรด้านสิทธิแรงงานหลายแห่งว่า ต้องทำงานกว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน ถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ถูกยึดเอกสารประจำตัวทั้งหมด และถูกหักเงินเดือนอย่างไม่ยุติธรรมระหว่างที่ทำงานในฟาร์มไก่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ได้ตัดสินว่าไม่มีการยึดพาสปอร์ต แต่มีการกระทำผิดเรื่องค่าจ้าง จึงสั่งให้เจ้าของฟาร์มชดเชยค่าเสียหายแก่แรงงานเป็นจำนวน 1,700,000 บาท ครอบคลุมระยะเวลา 2 ปี แต่ก่อนหน้านี้ กลุ่มแรงงานเรียกร้องค่าชดเชยจำนวน 44 ล้านบาท ครอบคลุมระยะการทำงานเวลา 3 -4 ปี ทำให้เดือนตุลาคมที่ผ่านมา คนงานทั้ง 14 คนยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว ซึ่ง กสม.ได้มีความเห็นตามสำนักงานสวัสดิการฯ ว่าคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวข้องกับการละเมิดด้านค่าจ้างแรงงาน แต่ไม่ได้เป็นคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาส



คำตัดสินดังกล่าวของศาลสูงสุดมีขึ้น ท่ามกลางการจับตามองของทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์กรต่างประเทศอย่างคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) และสมาคมผู้ค้ายุโรป (FTA) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยสมาคมผู้ค้ายุโรป ได้แนะนำให้พูดคุยกันนอกกระบวนการศาล เพื่อไกล่เกลี่ยในเรื่องนี้

 

ด้านเจ้าของฟาร์มธรรมเกษตร ก่อนหน้านี้ ได้ยื่นฟ้องคนงานทั้งหมด 14 คนฐานลักขโมย โดยระบุว่าคนงานพม่าลักลอบบัตรลงเวลา เพื่อนำไปเป็นหลักฐานเรื่องการทำงานล่วงเวลาให้แก่กรมสวัสดิการฯ อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปตามคำสั่งของสำนักงานอัยการจังหวัดลพบุรี ขณะเดียวกัน ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรได้ยื่นฟ้องศาลอาญากรุงเทพใต้ฐานหมิ่นประมาทและนำเข้าข้อมูลผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แก่นายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษ อดีตที่ปรึกษาเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ซึ่งเป็นองค์กรที่ผลักดันคดีดังกล่าว ทำให้นายฮอลล์ต้องออกจากประเทศไทยไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่าปัญหาคดีต่อเขาหลายๆ คดี สร้างอุปสรรคในการทำงานเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ

 

ด้านคนงานพม่าทั้ง 14 คน ก่อนหน้านี้ หลังออกจากฟาร์มธรรมเกษตรมาแล้ว ได้รับความช่วยเหลือโดยเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย โดยขณะนี้ คนงานทั้ง 14 คนยังคงทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปส่งออก ขณะที่บริษัทเบทาโกร ก่อนหน้านี้ ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธการละเมิดสิทธิแรงงาน และกล่าวว่าได้ยกเลิกสัญญาการรับไก่จากฟาร์มธรรมเกษตรแล้ว


ขอบคุณเรื่องและภาพจาก Voice TV