มาลาลา ยูซาฟไฟเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศเลบานอน

มาลาลา ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก ได้เปิดโรงเรียนมาลาลา ยูซาฟไฟ ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิง (Malala Yousafzai All-Girls School) ในประเทศเลบานอนใกล้กับชายแดนของประเทศซีเรีย สถานที่ซึ่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รายงานว่ามีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอาศัยอยู่ถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนชาวซีเรีย 4 ล้านคน ที่อพยพออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 2554

"วันนี้เป็นวันแรกที่ฉันก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ และในฐานะตัวแทนของเด็กทั่วโลก ฉันขอวิงวอนไปยังบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ให้ลงทุนในงบประมาณประเทศด้วยหนังสือแทนอาวุธ" มาลาลากล่าวเนื่องในวันเกิดอายุครบรอบ 18 ปีของเธอเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม

นอกจากนั้นเธอยังส่งสารไปยังผู้นำประเทศทั่วโลกให้ตระหนักถึงความล้มเหลวใน การดูแลเด็กชาวซีเรียที่เป็นผู้ลี้ภัย เพราะมีเพียงหนึ่งในห้าเท่านั้นที่ได้เรียนหนังสือ

สำหรับโรงเรียนที่ตั้งขึ้นได้รับทุนจากกองทุนมาลาลา (Malala Fund) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการศึกษา ที่สามารถช่วยเหลือเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 14-18 ปี ได้ถึง 200 คน

มาลาลา ยูซาฟไฟ ต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิงและผู้หญิงมาอย่างยาวนานในประเทศปากีสถาน บ้านเกิด จนทำให้เธอถูกยิงโดยมือปืนของกลุ่มตาลีบันเมื่อปี 2555 และถูกส่งตัวไปรักษาและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ

ครั้งหนึ่งในที่ประชุมพัฒนาการศึกษาของสหประชาชาติที่นอร์เวย์ มาลาลาเรียกร้องผู้นำระดับโลกให้ร่วมกันลดงบประมาณทางการทหารเพียง 8 วัน ก็มากพอที่จะทำให้เด็กและเด็กผู้หญิงทั่วโลกได้เรียนหนังสือฟรีถึง 12 ปี

///

มาลาลา ยูซาฟไซ เคยได้รับรางวัลทูตมโนธรรมสำนึกปี 2556 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับแฮร์รี เบลาฟอนเต้ นักร้องชาวอเมริกันและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะบุคคลที่แสดงออกถึงความเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบรางวัลทูตมโนธรรมสำนึก (Amnesty International Ambassador of Conscience Award) ประจำปี 2556 ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่ มาลาลา ยูซาฟไซ และแฮร์รี เบลาฟอนเต้ นักร้องชาวอเมริกันและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้แก่บุคคลที่แสดงออกถึงความเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

“มิตรสหายที่รักและเคารพทุกท่าน ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, ลอร์ดเมย์ (Lord Mayor) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ, โบโน (Bono), โรเจอร์ วอเตอรส์ (Roger Waters) และแฮรี เบลาฟอนเต (Harry Belafonte) ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาที่ไอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ได้เห็นรอยยิ้มในดวงตาของชาวไอร์แลนด์เสมอ และได้ยินเสียงเทวดานางฟ้าขับกล่อมร้องเพลง

ครั้งที่แล้วที่ดิฉันได้รับเชิญมาในพิธีมอบรางวัลสันติภาพ (Tipperary) ดิฉันได้มีโอกาสชมความงามตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้ระลึกถึงบ้านเกิดของดิฉันที่เมืองสวัด (Swat District) ซึ่งมีเทือกเขาเขียว ต้นไม้สูงใหญ่ และแม่น้ำลำธารไหลใสเป็นประกาย จึงถูกขนานนามว่าเป็นสวรรค์บนดิน ไอร์แลนด์ก็มีความงามดุจเดียวกัน

นอกจากความงดงามตามธรรมชาติเหล่านี้แล้ว ที่สำคัญสุดอีกประการหนึ่งสำหรับดิฉันคือ การได้พบกับความรักและความเมตตาที่ชาวไอร์แลนด์มอบให้ดิฉัน

ดิฉันขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสำหรับการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และสำหรับการมอบรางวัลนี้ให้ดิฉันในฐานะผู้ทำงานรณรงค์ด้านการศึกษาของเด็กผู้หญิงในระดับโลก ดิฉันได้รับรางวัลนี้ร่วมกับบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นเพียง King of Calypso (นักร้องและนักแต่งเพลงซึ่งทำให้แนวเพลงแคริบเบียนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก - ผู้แปล) หากยังเป็น King of campaigning เป็นผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลังการรณรงค์เพื่อสิทธิของมนุษย์ทั่วโลก ดิฉันรู้สึกเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งกับคุณแฮรี เบลาฟอนเต

มิตรสหายที่รักและเคารพทุกท่าน หลายท่านอาจทราบว่า ปากีสถานเป็นบ้านเกิดที่รักของดิฉันและประชาชนกำลังตกระกำลำบากจากเงื้อมมือของผู้ก่อการร้ายอย่างรุนแรง มีการทำสงครามอันเป็นเหตุให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์ในอัฟกานิสถานต้องเสียชีวิต ส่วนเด็กผู้หญิงทั่วโลกต่างไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีการศึกษา เด็กผู้หญิงอย่าง สัมพูล (Sambul) ซึ่งมีอายุเพียงห้าขวบต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างสุมิตรา พาเนอจี (Sushmita Banerjee) ต้องถูกสังหาร ทั้งๆ ที่เธอเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพและเป็นนักเขียน เธอถูกยิงจนเสียชีวิตที่อัฟกานิสถาน ส่วนประชาชนที่ซีเรียต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน เด็กต้องออกจากโรงเรียน ที่อินเดีย เด็กต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์

ในหลายประเทศ ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางเพศ ถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่เด็ก ต้องกลายเป็นคนรับใช้ตามบ้าน พวกเธอไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมคนอื่นๆ ถูกทอดทิ้ง และถูกผลักให้อยู่ชายขอบ ผู้หญิงต้องสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความเท่าเทียมและความยุติธรรม ดิฉันสามารถพูดต่อไปได้เรื่อยๆ ถึงความโหดร้ายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในทุกชั่วโมง ทุกนาที และทุกวินาทีของแต่ละวัน

ดิฉันทราบดีว่าทุกครั้งที่มีผู้มากล่าวสุนทรพจน์ที่นี่ ผู้ฟังจะปรบมือให้และนั่นคือจุดสิ้นสุดของพิธีการ มิตรสหายที่รักและเคารพทุกท่าน ดิฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อพรรณนาอย่างละเอียดถึงทุรกรรมที่เกิดขึ้นกับเรา แต่เพื่อพยายามแสวงหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ ท่านอาจถามตัวเองว่า ทางออกนั้นเป็นอย่างไร? ดิฉันเชื่อว่าทางออกคือการศึกษา.....การศึกษา......การศึกษา

การศึกษาคืออาวุธที่ทรงพลัง ที่จะสามารถต่อกรกับความรุนแรง การก่อการร้าย การใช้แรงงานเด็กและความไม่เท่าเทียม ปากกาและหนังสือจะนำเราทุกคนไปสู่หนทางที่เปี่ยมไปด้วยปัญญา

ในวันนี้ ดิฉันอยากขอให้ทุกท่านทำสิ่งเล็กๆ ภายหลังจบพิธีการในวันนี้ สิ่งเล็กๆ ที่ดิฉันว่าคือการจรดปากกาลงบนกระดาษ เขียนจดหมายวิงวอนให้รัฐบาลท่านให้ความสำคัญกับการศึกษา และดำเนินการอย่างจริงจัง การศึกษาต้องเป็นเรื่องที่สำคัญเหนือเรื่องอื่นใด

ดิฉันต้องการอาศัยอยู่ในโลกที่เด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด สามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อย่าปล่อยให้ใครต้องถูกทอดทิ้ง”